​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2564


1 ต.ค. 2564


ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความ เชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน เปรียบเทียบ เดือนสิงหาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2564

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกันยายน (39.70) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม (39.40)เดือนกรกฎาคม (39.60) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภครายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลได้แก่ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 เดือนกันยายน มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดือนสิงหาคมอีกทั้ง ผู้หายป่วยกลับบ้านมากกว่ายอดป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการและประสานความร่วมมือของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในการระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมและป้องกันโรค อีกทั้ง การบริการฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่เป็นไปตามแผน

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้สรุปการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย สะสมมากกว่า 50 ล้านโดส และเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19ให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ร้อยละ 80 ขึ้นไป เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และกระจายชุดตรวจให้กับประชาชนเพื่อทำการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง โดยการดำเนินการและกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาวตามที่ได้ประกาศไว้ ได้แก่ มาตรการควบคุมโควิด-19 แนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรทั้งนี้ ภาครัฐจึงปรับมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม โดยกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็น ตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ดำเนินควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างสมดุล ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนกันยายนค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ภาครัฐจึงออกข้อกำหนดผ่อนคลายมาตรการมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 อีกทั้ง ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อีกทั้ง มีแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วในบางจังหวัด และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยการลงทุนของภาครัฐเอง และการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) อีกทั้ง สร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

2. ผู้ปกครองส่วนหนึ่งมีความกังวลต่อความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่บุตรหลานที่มีอายุ 12-18 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสนอแนะให้ภาครัฐศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และจัดทำเป็นเอกสารชี้แจงให้แก่ผู้ปกครองได้รับทราบก่อนตัดสินใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีนโควิด-19

3. ประชาชนส่วนหนึ่งมีความกังวลต่อการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้หรือไม่ อีกทั้ง การปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของภาคธุรกิจและประชาชนจะมีความเข้มงวดเพียงใด เนื่องจากประชาชนในประเทศยังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ถึงร้อยละ 80 ซึ่งยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ดังนั้น หากการควบคุมไม่ดีอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 30.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.60 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.80 , 34.10 และ 35.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ มาตรการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 26.40 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 18.30 และ 15.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ การปรับมาตรการให้ธุรกิจดำเนินงานได้ปกติรองลงมา คือ การพักหนี้ของประชาชน การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ตามลำดับ