​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2564


4 ม.ค. 2565

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม เปรียบเทียบเดือนพฤศจิกายน และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2564

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนธันวาคม (42.20) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน (41.60)เดือนตุลาคม (40.20) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภครายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่ส่งผล ได้แก่ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 เดือนธันวาคมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดือนพฤศจิกายน โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการเป็นปกติ ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเสี่ยงที่มีมากขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยกลับมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ว่าสามารถป้องกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของวัคซีน และความพร้อมของระบบสาธารณสุขภายในประเทศทั้งนี้ จากการตั้งข้อสังเกต พบว่า ในหลายประเทศเริ่มคุมเข้มมาตรการจำกัดการเดินทางและสุขอนามัยต่าง ๆ ที่มากขึ้น ตลอดจนบางประเทศมีการประกาศปิดประเทศ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อันอาจนำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง หากภาครัฐไม่มีแนวทางการป้องกัน และมาตรการรองรับที่ถูกต้อง เหมาะสม และรวดเร็ว

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างเป็นปกติ จึงทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเริ่มดีขึ้น แต่หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างหนัก จนมีผู้ติดเชื้อเป็นหลัก 2 หมื่นคนต่อวันหรือมากกว่านั้น จนสาธารณสุขล่มสลาย ประเทศไทยย่อมต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำความบอบซ้ำให้กับประชาชน และประเทศไทยก็จะเกิดวัฏจักรเช่นนี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีแผนและมาตรการที่ดีในการรองรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประชาชนในประเทศควรร่วมมือกันในการตั้งการ์ดให้สูง เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อ และการนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่น

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ประชาชนมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน ที่ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้แพร่ระบาดในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชนทั้งนี้ การตัดสินใจของภาครัฐในครั้งนี้ หากเกิดความผิดพลาด ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมากดังนั้น ภาครัฐควรตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่า “ยอมให้เกิดความเสียหายน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่มาก”

2. ประชาชนมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนสินเชื่อของภาคธุรกิจในการกลับมาดำเนินธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการบริโภคของประชาชนทั่วไป เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายครัวเรือนและลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

3. ประชาชนมีความกังวลในเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล อันจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล แนวร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เช่น การลงพื้นที่พบปะประชาชนมากขึ้น เริ่มมีการเคลื่อนย้ายกลุ่มการเมือง เพื่อเตรียมการในการเลือกตั้งครั้งต่อไปทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน โดยเฉพาะการจัดตั้งทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และมีความน่าเชื่อถือทั้งต่อคนในประเทศและต่างประเทศในการเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด-19

4. การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน ทำให้มีการปิดประเทศชั่วคราว ซึ่งประชาชนมองว่า อาจจะปิดประเทศถึงครึ่งปี ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เริ่มจะเปิดตัวได้ไม่นาน กลับต้องปิดกิจการอีกครั้ง ทั้งนี้ จึงเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มสิทธิและผลประโยชน์ให้มากขึ้น และให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ใช้สิทธิ์ครบจำนวนแล้วในเฟส 3รวมถึงขยายเวลาการใช้สิทธิ์จากเดิมซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการท่องเที่ยว ทั้งในช่วง High Season (มกราคม-เมษายน) และช่วง Low Season (พฤษภาคม-มิถุนายน) 2565อันจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจการท่องเที่ยว

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.40 และ 33.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.80 และ 36.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.70

32.70 และ 35.50 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ27.40 รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 23.30 และ 20.50 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตามลำดับ