เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย OTOP สร้างความรู้ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาอาชีพ


16 มี.ค. 2565

รองผู้ว่าฯ สงขลา เปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย OTOP” สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาอาชีพ เพื่อขับเคลื่อน “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”

(15 มี.ค.65) ที่โรงแรมกรีนเวิลด์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย OTOP โดยมีนายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดสงขลา นางปราณี อ่อนมณี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนประธานเครือข่าย OTOP อำเภอ วิทยากร และผู้เข้ารับอบรมเข้าร่วมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรควิด-19

ด้วยกรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ได้รับมอบหมายให้สนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบาย หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ แก่ชุมชน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา โดยมีเครือข่าย OTOP เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านกิจกรรม/โครงการ/นโยบาย ภาครัฐต่างๆ

จังหวัดสงขลา ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565 โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย OTOP งบประมาณ 91,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานเครือข่าย OTOP มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ, สนับสนุนส่งเสริมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในการดำเนินงานจากองค์กรของตนเองอย่างทั่วถึง และให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและกรรมการเครือข่าย OTOP มีความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานเครือข่าย OTOP

สำหรับ “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย OTOP” กำหนดหลักสูตรการอบรม 2 วัน ระหว่าง วันที่ 15-16 มีนาคม 2565 ณ ห้องสกายเล้าจ์ ชั้น 8 โรงแรมกรีนเวิลด์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีเนื้อหา ประกอบด้วย 1.ทบทวนการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 2.กรอบแนวทางการดำเนินงานของเครือข่าย OTOP จังหวัด 3.บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่าย OTOP/จังหวัด 4.การเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ อย่างมืออาชีพ 5.ทิศทาง/แนวโน้มอนาคตด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP 6.วิเคราะห์ดำเนินงานของเครือข่าย OTOP จังหวัดที่ผ่านมา 7.จัดทำแนวทางการให้การสนับสนุนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งสนับสนุนช่องทางการตลาด และ 8.จัดทำแผนปฏิบัติการของเครือบ่าย OTOP ระดับจังหวัด มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น จำนวน 34 คน ประกอบด้วย นักวิชาการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบงาน OTOP อำเภอ ๆ ละ 1 คน ประธานเครือข่าย OTOP อำเภอ ๆ ละ 1 คน และนักวิชาการจังหวัด 2 คน

ณิชารีย์ หนูบุญ/ข่าว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา