​นักธุรกิจด่านนอก เรียกร้องศบค.ทบทวนมาตรการรับการเปิดด่าน ชี้ควรใช้ระบบเดียวกับมาเลเซีย


19 มี.ค. 2565

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการรักษ์ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ในฐานะตัวแทนนักธุรกิจในพื้นที่ด่านนอกและเป็นผู้ผลักดันการเปิดด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียมาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการ Test&Go ที่จะมีการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 เมษานี้ทางด่านสะเดา ซึ่ง ศบค.ควรทบทวนปรับมาตรการ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมชาวบ้านที่เริ่มกลับมาลงทุนแล้ว


หลัง ศบค. อนุมัติ เปิดด่านพรมแดนทางบก ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยได้ภายใต้เงื่อนไข Test&Go ยกแบบที่ใช้กับทางอากาศมาเลย ไม่ปรับอะไรเลย อันนี้อาจจะเป็นปัญหา เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไม่เหมือนกัน ทางอากาศเดินทางไม่บ่อยหรืออาจจะปีละครั้ง แต่ของพื้นที่ทางบกระหว่างประเทศมีการเดินทางมาเที่ยวกันเป็นว่าเล่น ทั้งเช้า กลับเย็น มาวันเว้นวัน บางคนมาเกือบทุกวัน

การอนุมัติให้เข้ามาไทยในรูปแบบ Test&Go ดูสร้างภาระและค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง เมื่อเทียบกับฝั่งมาเลเซียที่ใช้รูปแบบ Vaccine Travel Lane (VTL) คำนวณดูคร่าวๆ คนมาเลเซียจะเข้ามาเที่ยวไทยต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 4,700 บาท (ตรวจ Rt-pcr ที่รร + กักตัว 1 คืนรอผล + ประกันสุขภาพ) แถมยังต้องมากักตัวคืนแรก ขณะที่รูปแบบ VTL ของมาเลเซีย ใช้แค่การตรวจ RTK หน้าด่าน รอผลไม่นาน ถ้าผลเป็นลบ ก็ไปเที่ยวได้ ไม่ต้องกักตัวให้เสียเวลา

การใช้รูปแบบ VTL ของมาเลเซีย เคยใช้มาก่อนแล้วร่วมกับสิงคโปร์ แล้วต่อยอดมาที่ไทย ถ้าไม่ดีจริงเค้าคงไม่เอามาต่อยอดใช้กับไทยต่อและคงยกเลิกตั้งแต่ที่ใช้กับสิงคโปร์ แล้ว ศบค. ลองใจกว้างๆ ปรับมาทดลองใช้รูปแบบ VTL นำร่องที่ด่านสะเดา เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย ถ้าใช้แล้วมันดี สามารถเอาไปต่อยอดกับพื้นที่ชายแดนอื่นๆได้เลย อะไรที่ดีผมคิดว่าควรเอามาปรับใช้ อย่าไปคิดว่าของเราดีที่สุดแล้ว

ถ้าเป็น VTL ได้ จะช่วยชาวบ้านที่เค้าเริ่มกลับมาลงทุนแล้วได้กลับลืมตาอ้าปากกันได้เพราะรูปแบบ Test&Go ที่เปิดมา นทท.มาเลเซียบ่นอุ๊บ จ่ายไม่ไหว เว้นแต่กลุ่มทำธุรกิจกับกลุ่มมาครอบครัวที่จะเดินทางมาก่อน ถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแน่นอน ชาวบ้านที่กลับมาลงทุนก็จะเจ็งซ้ำสอง ลองดูนะครับ นำรูปอบบ VTL มาทดลองที่ด่านสะเดา ดีแล้วจะได้ต่อยอดไปที่อื่นๆต่อไป