​เตือนภาคใต้ตอนล่างเฝ้าระวังฝนตกหนักคลื่นลมแรง 6-11 ม.ค.66


4 ม.ค. 2566


ประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 1 (1/2566)เรื่อง คลื่นลมแรงและฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีผลกระทบช่วงระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2566 สำหรับพยากรณ์อากาศสำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประจำวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2566 บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 6-8 ม.ค. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำใกล้เกาะบอร์เนียวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ทำให้ช่วงวันที่ 7-8 มกราคม 2566 บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดดังกล่าว ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 6-8 มกราคม 2566 รายละเอียดตามประกาศศูนย์ ฯ ฉบับที่ 1 (1/2566)


ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทางตอนบนของภาค มีอากาศเย็นในตอนเช้า ทางตอนล่างของภาค มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 6-8 มกราคม 2566

ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาโดยพบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ในช่วงวันที่ 6-8 มกราคม 2566 บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดกรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 6-11 มกราคม 2566 ดังนี้

เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณดังนี้

1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม เวียงสระ เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติท่าศาลา นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม เมืองนครศรีธรรมราช ร่อนพิบูลย์ ลานสกา และสิชล)

2. จังหวัดพัทลุง (อำเภอกงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน เมืองพัทลุง และศรีนครินทร์

3. จังหวัดสงขลา (อำเภอกระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่

4. จังหวัดปัตตานี (อำเภอกะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน) จังหวัดนราธิวาส (อำเภอจะแนะ เจาะไอร้องตากใบ บาเจาะ เมืองนราธิวาส ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุศิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)

นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนราและแม่น้ำโก-ลก

สำหรับเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

สำหรับคลื่นลมในทะเล ให้มีการเฝ้าระวังคลื่นชัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึง จังหวัดนราธิวาส

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กอนช. ได้มีการขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2. ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำรวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก

3. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ประกาศ ณ วันที่ 5 มกราคม 2566

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กองอำนวยการแห่งชาติ