ม.หาดใหญ่ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนเดือนมิ.ย.ยังลดลง


1 ก.ค. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 51.5 เพศหญิง ร้อยละ 48.5 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 45.1

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนมิถุนายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมทรงตัวปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตร  หดตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม

63.jpg

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าทุกด้าน โดยเฉพาะรายได้จากการทำงาน  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวปรับลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากเดือนมิถุนายน รายได้เกษตรกรลดลงจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตรหดตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ราคาน้ำยางสดที่ปรับตัวลดลงเกือบ 10 บาท เหลือราคา 46.50 บาทต่อกิโลกรัม (การยางแห่งประเทศไทย, 30 มิ.ย. 2559) และส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่เดือนรอมฎอนในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 (มติชนออนไลน์, 5 มิ.ย. 2559) ของชาวไทยมุสลิมที่ถือศีลอดในช่วงกลางวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ในภาคครัวเรือนลดลง  รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์คาร์บอมและลอบยิงทหารหลายจุดในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจและชะลอการใช้จ่ายด้านต่าง ๆ (มติชนออนไลน์, 30 มิ.ย. 2559)

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 59.4 และ 60.0 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 20.0 และ 19.4 ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 27.9 และ 32.1 ตามลำดับ

เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้วันจันทร์ที่ 18 ก.ค. 2559 เป็นวันหยุดเพิ่มเติมต่อเนื่องจากวันอังคารที่ 19 ก.ค. 2559 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา และวันพุธที่ 20 ก.ค. 2559 ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษา ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องรวม 5 วัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยในช่วงโลว์ซีซั่น รวมทั้งการเข้าสู่ช่วงเทศกาลฮารีรายอของชาวไทยมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมซื้อของใหม่เพื่อใช้ในเทศกาล ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ทองรูปพรรณ และเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะญาติพี่น้อง ขณะที่ชาวไทยมุสลิมที่ทำงานในประเทศมาเลเซียก็จะเดินทางกลับมาเฉลิมฉลองด้วยเช่นกัน (ข่าวสดออนไลน์, 30 มิ.ย. 2559)

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ การว่างงาน   คิดเป็นร้อยละ 20.6 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 16.3 และ 15.5 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ การว่างงาน รองลงมา คือ ค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนตามลำดับ

dr.wiwat.jpg