สงขลาหนุนชาวสวนยางปลูกผักเหรียงแซมต้นยาง สร้างรายได้ในช่วงวิกฤติราคายางตกต่ำ
เกษตรอำเภอเมืองสงขลา เดินหน้าหนุนชาวสวนยางปลูกผักเหรียงแซมต้นยางพารา เร่งสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติราคายางตกต่ำ พร้อมหนุนพื้นที่ ม.6 ต.เกาะแต้ว เป็นหมู่บ้านปลูกผักเหรียงในเชิงการค้าให้ได้ภายในปีนี้
สำนัก งานเกษตรอำเภอเมือง จ.สงขลา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่หันมาปลูกพืชร่วมหรือปลูกพืชแซมยาง เพื่อช่วยสร้างรายได้เสริมในช่วงวิกฤติยางพาราตกต่ำ โดยเน้นพืชผักประจำถิ่น โดยเฉพาะผักเหรียง ซึ่งปลูกง่าย ขายคล่อง ได้ราคาดี และสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด
นายจำลอง ศรีไสย เกษตรอำเภอเมืองสงขลา เปิด เผยว่า การปลูกผักเหรียงร่วมกับยางพาราจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ ส่วนการดูแลไม่ยาก เพียงแต่ต้องหมั่นตัดหญ้า และหาเวลารดน้ำใส่ปุ๋ย ซึ่งการใส่ปุ๋ยยางก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผักเหรียงโตเร็วขึ้น และแมลงศัตรูพืชก็แทบจะไม่มี สำหรับวิธีการปลูกจะปลูกตรงกลางร่องยาง โดยเว้นระยะ 3 เมตร ต่อ 1 ต้น โดยเนื้อที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ประมาณ 100 ต้น และเมื่อปลูกไปนานๆ จะมีการแตกกอขยายออกไปเรื่อยๆ และเกษตรกรสามารถเก็บยอดผักเหรียงส่งขายได้ทุกวัน โดยราคาในตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-80 บาท เนื่องจากยังคงหายาก และตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตามร้านอาหารพื้นบ้านและร้านอาหารชื่อดังในตัวเมืองหาดใหญ่และสงขลา
ทั้งนี้ ใน อ.เมืองสงขลา ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสงขลาได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางหันมาปลูก ผักเหรียงร่วมยางในหลายพื้นที่ ซึ่งบางครอบครัวที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็เริ่มมีรายได้จากการเก็บยอดผักเหรียงขาย โดยเฉพาะใน ต.ทุ่งหวัง ต.เกาะแต้ว และ ต.พะวง นอกจากนั้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลายังได้สนับสนุนให้พื้นที่ ม.6 ของ ต.เกาะแต้ว เป็นหมู่บ้านปลูกผักเหรียงในเชิงการค้า ซึ่งในปีนี้จะมีการดำเนินการเต็มรูปแบบ และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้