มอ.ว. ก้าวหน้า จัดนักเรียนคุยกับมนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ 30 ม.ค.นี้
รองศาสตราจารย์ นพ.วรัญ ตันชัยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน มอ. วิทยานุสรณ์ แจ้งว่า โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบในประเทศไทย ในการจัดกิจกรรม NASA ARISS Contact หรือกิจกรรมสื่อสารผ่านวิทยุสมัครเล่น ระหว่างนักเรียน กับ นักบินอวกาศขององค์การ NASA ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ ขณะโคจรผ่านน่านฟ้าประเทศไทย
โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนของโครงการ ARISS (Amateur Radio on the International Space Station) Contact ในภูมิภาคเอเชีย สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันทางการศึกษาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้แบ่งกิจกรรมเป็น 3 ระยะคือ ระยะก่อนสื่อสารกับนักบินอวกาศ ระยะสื่อสารกับนักบินอวกาศ และระยะหลังสื่อสารกับนักบินอวกาศ โดยในกิจกรรมระยะแรกจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์โครงการ รวมถึงรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อคัดเลือกนักเรียนจำนวน 12 คน กิจกรรมระยะที่สอง เป็นการสื่อสารผ่านวิทยุสมัครเล่น ระหว่างนักเรียน กับ นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ ขณะโคจรผ่านน่านฟ้าประเทศไทย เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และ กิจกรรมระยะที่สาม เป็นการประชาสัมพันธ์ผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมติดต่อสื่อสารกับนักบินอวกาศ
สำหรับตัวแทนนักเรียน ประกอบด้วยนักเรียนจาก “โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย” (โครงการ วมว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตัวแทนจากโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา โรงเรียนเดชะปัตนนยานุกูล โรงเรียนนราธิวาส และ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์
การติดต่อพูดคุยระหว่างนักเรียน กับ นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ จะมีขึ้นในวันที่ 30 มกราคม โดยจะมีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจได้รับทราบ กิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะแสดงถึงการได้รับความไว้วางใจในการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ของ โรงเรียน มอ. วิทยานุสรณ์ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิทยุสมัครเล่นและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องผ่านการจัดนิทรรศการ การให้โอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยกับนักบินอวกาศ แล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนและนักศึกษา ให้เกิดความสนใจในการศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) อีกด้วย
มอ.ว.