ชาวนาปาดังฯ นำร่อง การทำนาโยน ฟื้นชีวิตที่นาร้าง ทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง


24 พ.ย. 2559

เปิดโครงการส่งเสริมการทำนาโยนให้กับเกษตรกรในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของการทำนาโยนของ อ.สะเดา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในหลวง หลังจากพื้นที่นาถูกทิ้งร้างมายาวนาน

13.jpg

วันที่ 23 พ.ย. 59 ที่บ้านตะโล๊ะ ม.8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภอสะเดา เปิดโครงการส่งเสริมการทำนาโยน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ขึ้นเป็นที่แรกของ อ.สะเดา และเป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย โดยมีทั้งชาวบ้าน รวมทั้งนักเรียน และ ข้าราชการ เข้าร่วม พร้อมกับมีการยืนถวายความอาลัย 89 วินาที เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

สำหรับโครงการส่งเสริมการทำนาโยน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นการสาธิตการทำนาโยน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำนา เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการดำนา ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม และการทำนาหยอดด้วยเครื่องจักร ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่ที่ผสมผสานรูปแบบการทำนาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภอสะเดา บอกว่า พันธ์ข้าวที่ปลูกได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธ์ข้าวปัตตานี ซึ่งมีทั้งข้าวสังข์หยด ข้าวเหนียวดำ และ ข้าวหอมมะลิ 105 และ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งในพื้นที่บ้านตะโล๊ะมีเนื้อที่นาประมาณ 270 ไร่ ในจำนวนนี้ได้ใช้ทำนาปลูกข้าวประมาณ 136 ไร่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกทิ้งให้รกร้าง และต่อมาชาวบ้านในหมู่บ้านได้รวมตัวกันฟื้นฟู และอนุรักษ์การทำนาไม่ให้สูญหายไปมี โดยสมาชิก 35 คน

ซึ่งจากจำนวนผลผลิตในฤดูการผลิตที่ผ่านมาเฉลี่ยไร่ละ 200-300 กิโลกรัม ทั้งนี้ผลผลิตที่ได้ในระยะแรกยังเน้นไปที่การบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก หากเหลือก็จะส่งขายในนามกลุ่มผลิตข้าวบ้านตะโล๊ะ รวมทั้งวางจำหน่ายในรูปแบบของที่ระลึกตามหน่วยงานราชการในราคาถุงละ 50-70 บาท ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับราคาข้าวที่ตกต่ำไปในตัว ขณะที่การทำนาในตอนนี้ยังคงทำได้แค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น เพราะ ต้องอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเป็นหลัก

2.jpg9.jpg16.jpg17.jpg20.jpg25.jpg26.jpg