อ.เมืองไข้เลือดออกระบาดหนักสุด สธ.สงขลารณรงค์ 3เก็บ 5ส.อย่างต่อเนื่อง


15 ก.พ. 2560

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาห่วงใยประชาชนในระยะนี้ยังคงเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ ทุกครอบครัวร่วมมือปฏิบัติ 3 เก็บ และ 5 ส. ที่ต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 

89.jpg

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสงขลาในขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง และอาจจะทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จึงขอเตือนย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ดังนี้ 

• หากมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคไข้เลือดออก หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดลดไข้ให้ใช้ยาประเภทพาราเซตามอล ห้ามกินยาประเภทแอสไพริน ไอบูโปรเฟน และยาสเตียรอยด์ เพราะมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกได้ง่ายและทำให้อาการโรครุนแรงขึ้นได้ 

 • กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการไข้สูงระยะนี้ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงไข้ลด ได้แก่ คนอ้วน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้หญิงที่มีประจำเดือน เพราะอาจจะทำให้มีอาการของโรครุนแรงกว่าคนทั่วไป 

• สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก กรณีที่แพทย์นัดให้มาพบแพทย์ตามนัด และหากมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือไม่แน่ใจ ให้ไปพบแพทย์ก่อนนัดได้ โดยเฉพาะในช่วง 5 - 7 วันของอาการไข้

• ขอให้มีการป้องกันและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยมาตรการ 3 เก็บและ 5 ส.โดยเก็บบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดภาชนะ เปลี่ยนถ่ายน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และขัดล้างขอบภาชนะใส่น้ำ พร้อมทั้งดูแลรักษาให้บ้านเรือนให้สะอาด จัดวางสิ่งของให้ถูกที่ หยิบใช้ง่ายอย่างสะดวก โดยยึดหลัก 5 ส คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย และหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินศูนย์นเรนทรสงขลา โทรศัพท์สายด่วนโทร 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของ จ.สงขลา (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 ก.พ. 2560) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น 1,044 ราย (อัตราป่วย 74.26 ต่อประชากรแสนคน) มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี (อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 232.42) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี , 15 - 24 ปี และ แรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ (มีอัตราป่วยเท่ากับ 189.96, 114.4, และ 112.71 ตามลำดับ) สำหรับอำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคืออำเภอเมืองสงขลา (มีอัตราป่วยเท่ากับ 109.35 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ อำเภอนาหม่อม , หาดใหญ่ , สิงหนคร และสะเดา ตามลำดับ