กฟผ.ชี้แจงค่าเอฟทีปี 58 ลดลงต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง


29 ม.ค. 2559

ตามที่มีการเผยแพร่ความคิดเห็นผ่านทาง Social Media ต่างๆ ว่า กฟผ. ขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีในปี 2558 โดยอ้างเหตุผลว่า มีความจำเป็นเนื่องจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย และรายได้จากค่าเอฟทีได้สร้างกำไรให้ กฟผ. มากขึ้นนั้น ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

ประการแรก ในปี 2558 มิได้มีการปรับขึ้นค่าเอฟที (Ft) หรือค่าไฟฟ้าผันแปร แต่อย่างใด โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับลดค่าเอฟทีอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 งวด รวมลดลง 22.62 สตางค์ต่อหน่วย ได้แก่ งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2558 ลดลง 10.04 สตางค์ต่อหน่วย งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 ลดลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย และงวดกันยายน – ธันวาคม 2558 ลดลง 3.23 สตางค์ต่อหน่วย และในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2559 กกพ. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าเอฟทีลงอีก 1.57 สตางค์ต่อหน่วย

ประการที่ 2 การกำหนดค่าเอฟทีดังกล่าว ไม่ทำให้ กฟผ. มีกำไรจากการดำเนินการเพิ่มหรือลดลง เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มหรือลดตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. ตามกลไกสูตรการปรับค่าเอฟทีอัตโนมัติที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดย กกพ. ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และผู้บริโภค ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการ เพื่อพิจารณากำหนดค่าเอฟทีทุกๆ 4 เดือน

กฟผ. ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเอฟที ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า (ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) และผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

การเปลี่ยนแปลง ค่า Ft = การเปลี่ยนแปลง(ค่าเชื้อเพลิง + ค่าซื้อไฟฟ้า + ผลกระทบจากนโยบายรัฐ)

ค่าเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันราวร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การลดลงหรือเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซจะน้อยกว่าราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาก๊าซภายในประเทศผูกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกประมาณร้อยละ 30-40 ดังนั้นราคาน้ำมันที่ลดลงในปี 2558 ร้อยละ 61 จึงส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 19 นอกจากนี้ราคาก๊าซจะเปลี่ยนแปลงตามหลังราคาน้ำมันอย่างน้อย 6 เดือน (ระยะเวลาตั้งแต่ 6-18 เดือน เนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติมีหลายสัญญา)

ค่าซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งปรับขึ้นลงตามราคาเชื้อเพลิงเช่นกัน

ผลกระทบจากนโยบายรัฐ รัฐให้การอุดหนุนราคาค่าซื้อไฟฟ้าส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder, FiT- Feed-in Tariff) จากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงแดด ลม ชีวมวล โดยค่าไฟฟ้าซึ่งเกิดจากการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนในปี 2558 คิดเป็น 18.6 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 7.3 สตางค์ต่อหน่วย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่รับซื้อมากขึ้น

สำหรับ อัตราแลกเปลี่ยน มีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อกระแสไฟฟ้าด้วย โดยค่าเงินบาทที่อ่อนลง จะมีผลต่อค่าเชื้อเพลิง และส่งผลต่อค่าเอฟที เพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมีผลให้ค่าเอฟทีลดลงเช่นกัน

ดังนั้น ราคาน้ำมันที่ลดลงในปัจจุบัน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเอฟทีในปี 2558 ลดลงต่อเนื่องตามลำดับ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นต้น

กฟผ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว จะช่วยสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของ กฟผ. ยิ่งขึ้น และพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในสังคมต่อไป

1.png