เปิดงานหว่านถั่วเขียวพัฒนาระบบการจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืนพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ
ศูนย์ข่าวบ้านเรา.- รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดงานหว่านถั่วเขียวและเปิดโครงการวิจัยระบบถั่วเขียว-ปอเทือง-ข้าว โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืน โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา ที่บ้านป่าขวาง ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงานหว่านถั่วเขียวและเปิดโครงการวิจัยระบบถั่วเขียว-ปอเทือง-ข้าว โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมี นายอุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง (อบต.รำแดง) ร่วมให้การต้อนรับ
นายอนันต์ อักษรศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลากล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในชนบทไทยที่ผ่านมาพบว่าภาคเกษตรมีความสำคัญทางเศรษฐกิจลดลง เกษตรกรยากจน และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรสทิงพระที่ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด บนพื้นที่ 356,000 ไร่ เกษตรกร 32,500 ครัวเรือน เป็นเกษตรกรที่ยากจนที่สุดของจังหวัดสงขลา คือรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 6,485 บาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดร้อยละ 60 มีสัดส่วนคนยากจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัด ร้อยละ 48 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากเกษตรกรในพื้นที่มีขนาดเล็กเฉลี่ย 11 ไร่ ขาดแคลนน้ำ ปลูกพืชไม่หลากหลาย และฐานะยากจน
ดังนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการ การผลิตพืชที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนายกระดับการดำรงชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการพัฒนาการผลิตพืชให้เกิดความพอเพียงและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปีตั้งแต่ปี 2559 - 2563 โดยดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาการผลิตพืชเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นฐานรายได้หลักในพื้นที่ ได้แก่ การปลูกพืชในพื้นที่นา เช่น ระบบถั่วเขียวปอเทือง ข้าว ดาวเรือง และการปลูกไม้ผล พืชผักบนร่องสวน , การพัฒนาการผลิตพืชผสมผสาน 9 กลุ่ม เพื่อความพอเพียงและยั่งยืน ได้แก่
กลุ่มพืชรายได้ กลุ่มพืชอาหาร กลุ่มพืชอาหารสัตว์ กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ กลุ่มพืชสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น กลุ่มพืชใช้สอย และกลุ่มพืชพลังงาน , การพัฒนาเกษตรกรต้นแบบการเกษตรแบบประณีตในพื้นที่ขนาดต่างๆ เช่น 5 ไร่ 10 ไร่ 15 ไร่ ที่สามารถทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้อย่างพอเพียง และการพัฒนาเกณฑ์หรือตัวชี้วัดความเป็นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับการผลิตพืชในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน มีวิธีการดำเนินงาน โดยการทำวิจัยในพื้นที่ตัวแทน ได้แก่ ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรประมาณ 50คน อบต.รำแดง หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานศูนย์วิจัยต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตร โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีการผลิตพืชที่ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ มีความพอเพียงในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 สังคมและชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยใช้หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกถั่วเขียว ปอเทือง ข้าว ถือเป็นระบบการปลูกพืชที่มีประสิทธิผลสูง คือ เป็นพืชที่สร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง มีการใช้น้ำน้อย ช่วยบำรุงดิน และสามารถทำให้ลดต้นทุนการปลูกข้าวได้อีกทางหนึ่งด้วย
/////