รมว.ดิจิทัล ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรวจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม


27 พ.ย. 2560

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรวจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิด พร้อมนำเทคโนโลยีมาเสริมเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ป้องกันการบิดเบือนข้อมูล เชื่อมโยงสู่ Smart City และ Start Up

PNEWS17112711540100801.JPG

วันนี้ (27 พ.ย. 60) ที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 2 อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ พร้อมรับฟังการบรรยายโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub โดยมี นายอิทธิพร เมฆวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายโครงข่ายระหว่างประเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) รวมทั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) เปิดเผยว่า ขณะนี้ CAT ได้เร่งดำเนินโครงการกิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเพื่อการเชื่อมโยงพื้นที่รอยต่อชายแดนมายังศูนย์โทรคมนาคมของ CAT และสถานีเคเบิลใต้น้ำของ CAT ซึ่งรวมทั้งสถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 2 สงขลา ทั้งนี้ CATได้จัดทำร่างเงื่อนไขการจัดจ้างและข้อกำหนดทางเทคนิคพร้อมกับนำกิจกรรมดังกล่าวร่วมในโครงการข้อตกลงคุณธรรมเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสได้ทุกขั้นตอนแล้ว เพื่อดำเนินการจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติเพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างต่อไป , กิจกรรมย่อยที่ 2 การขยายความจุของระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง CAT ได้ร่วมกับภาคีสมาชิกในการจ้างผลิตอุปกรณ์ขยายระบบฯ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จใช้งานได้ภายในเดือนกันยายน 2561 ทั้งนี้ ได้เริ่มการขยายความจุแล้วบางส่วน รวมทั้งการขยายที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 2 สงขลา และกิจกรรมย่อยที่ 3 การร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยล่าสุด CAT ได้ร่วมหารือกับผู้ให้บริการจากประเทศมาเลเซีย เวียดนามกัมพูชา และจีน ถึงหลักการความเป็นไปได้ในการร่วมกันก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ดังกล่าวแล้ว

“CAT นำศักยภาพความเชี่ยวชาญในการให้บริการโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่เราได้จัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพและเสถียรภาพระบบให้สามารถรองรับปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยและของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเชื่อมั่น CAT จะสนับสนุนงานสำคัญของรัฐบาลในการยกระดับโครงข่ายระหว่างประเทศของไทยผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างเต็มที่ เพื่อขยายความแข็งแกร่งให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียนได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายตามแผนการและกรอบเวลาที่ได้กำหนด” พันเอก สรรพชัย กล่าว

PNEWS17112711540100807.JPGPNEWS17112711540100812.JPG

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ พร้อมรับฟังการบรรยายและตรวจเยี่ยมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก , CAT , TOT , ไปรษณีย์ไทย , สำนักงานสถิติจังหวัด ฯลฯ ที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมี นายวันไชย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วย นางสาวพะเยาว์ เมืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดพื้นที่ภาคใต้ร่วมให้การต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน

สำหรับการตรวจราชการในครั้งนี้ ได้มีการติดตามการดำเนินการด้านการพัฒนาการให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาการบินของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001-2015 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 , การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติในการติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก , การใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อการพยากรณ์อากาศบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก และการให้บริการดิจิทัลอุตุนิยมวิทยาผ่านช่องทาง API และ Mobile Application

ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้มีการขับเคลื่อนอุตุนิยมวิทยาเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยนำอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการดำเนินงานสถานีฝนอัตโนมัติลุ่มน้ำอู่ตะเภาและทุกอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาค , การนำ GIS มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและพยากรณ์อากาศเชิงพื้นที่ และการนำข้อมูล Remote Sensing ได้แก่ เรดาร์ตรวจอากาศและดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาใช้การปฏิบัติงาน , การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อนำมาใช้พยากรณ์อากาศในพื้นที่ นอกจากนี้ได้มีการสร้างความรับรู้ให้ประชาชสเข้าถึงข้อมมูลอุตุนิยมวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน API เพื่อบริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และ Application ด้านอุตุนิยมวิทยาของกรมอุตุนิยมวิทยาอีกด้วย

ทั้งนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ทั้งศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก , CAT , TOT ฯลฯ มีการวางรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานในประเทศอื่นๆ เพื่อการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ป้องกันการบิดเบือนข้อมูล นอกจากนี้ได้ฝากเรื่องการนำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามาสนับสนุนเชื่อมโยงสู่ Smart City และ Start Up เชิญชวนคนหนุ่มสาวร่วมสร้างมิติใหม่ให้งานด้านอุตุนิยมวิทยามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

PNEWS17112710504200501.JPGPNEWS17112710504200505.JPGPNEWS17112710504200507.JPGPNEWS17112710504200518.JPG

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา