สงขลาวาง 4ยุทธศาสตร์พัฒนาสู่เมืองสมุนไพรสร้างคุณค่าต่อประชาชน


24 ม.ค. 2561

จังหวัดสงขลา ประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเมืองสมุนไพรปี 2561 ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

51.JPG

(24 ม.ค.61) ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จัดประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมีนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยนายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา, สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา, 

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลาและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยพ. ศ. 2560-2564 ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) เพื่อเป็นรูปแบบ (Model)การพัฒนาสมุนไพรไทยที่เป็นรูปธรรมและระดับจังหวัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า หลักสำคัญของการพัฒนาเมืองสมุนไพรเริ่มจากการพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ครบวงจร (ต้นทาง กลางทางและปลายทาง) พร้อมสร้างความร่วมมือตามนโยบายประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม เน้นบทบาทหลักในการขับเคลื่อน คือจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ซึ่งในปี 2560 มีจังหวัดเป้าหมายนำร่อง 4 จังหวัดได้แก่จังหวัดเชียงราย, ปราจีนบุรี, สกลนครและจังหวัดสุราษฎร์ธานีและในปีงบประมาณ2561 เพิ่มจังหวัดเป้าหมาย อีก 9 จังหวัด คือจังหวัดพิษณุโลก, อุทัยธานี, มหาสารคาม, สุรินทร์,นครปฐม, จันทบุรีและสงขลา

ด้านนายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับสมุนไพรเป้าหมาย ในการพัฒนาสงขลาเมืองสุขภาพนั้นมีด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ไพล ขมิ้นชัน กระชายดำและบัวบก นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์กว่า 1,800 ชนิดและมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาดซึ่งมีความต้องการ และในปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินตามแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายของรัฐเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่ฐานรากอย่างยั่งยืน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรยกระดับมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร, ยุทธศาสตร์ขยายช่องทางการใช้ประโยชน์การเพิ่มมูลค่าและการตลาด และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ นอกจากนี้ในการประชุม ได้นำเสนอเรื่องพิจารณาในด้านของแผนงานพัฒนาเมืองสมุนไพรจังหวัดสงขลา รูปแบบการพัฒนาเมืองสมุนไพรจังหวัดต้นแบบและการวางแผนการพัฒนาเมืองสมุนไพรจังหวัดสงขลาแบบบูรณาการเพื่อเสนอแนะ

50.JPG49.JPG

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว     /ภาพ    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา