มรภ.สงขลา มอบรางวัล ‘ปิตาภรณ์แผ่นดิน’ เชิดชูเกียรติ 6 ผู้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม


10 มี.ค. 2561

มรภ.สงขลา มอบรางวัลปิตาภรณ์แผ่นดิน เชิดชูเกียรติ 6 อาจารย์เกษียณและศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ยกเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม  

01.jpg

 นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า สำนักศิลปะฯ มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริม สืบสานและเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น สู่การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยสนับสนุนให้อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ดังนั้น เพื่อเป็นเกียรติสำหรับผู้ประกอบคุณความดีในการส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ พัฒนา และเผยแพร่งานทางด้านศิลปวัฒนธรรมให้ดำเนินต่อไป อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคคลหรือองค์กรมีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันเป็นแกนนำในการส่งเสริม สนับสนุนและอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ สำนักศิลปะฯจึงได้คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เข้ารับรางวัลปิตาภรณ์แผ่นดินจาก ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์เกษียณและศิษย์เก่าผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม 
นายโอภาส กล่าวว่า สำหรับรายชื่อผู้ได้รับรางวัลปิตาภรณ์แผ่นดิน มีทั้งหมด 6 คน ดังนี้ 

1. นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์ หรือ “ครูฑูรย์” ศิษย์เก่าวิทยาลัยครูสงขลา ผันตัวเองเก็บเกี่ยวความรู้เปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา “ชาวบก” หรือชาวคาบสมุทรสทิงพระ แนะการทำเกษตรแบบพอเพียงอย่างถูกวิธี รวมทั้งประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ 

นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์.jpg

2. นายโชติ ไกรศิริ ศิษย์เก่าวิทยาลัยครูสงขลา จบการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิต (บริหารการศึกษา) ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้สอนวิชาดนตรีไทยและดนตรีสากล มีประสบการณ์การสอนเป็นระยะเวลา 38 ปี ครูโชติเป็นผู้มีความศรัทธาในวิชาชีพครู เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ สอนเด็กให้รูจักการฝึกฝนและพึ่งพาตนเองให้ได้ ตั้งแต่การสอนให้อ่านหนังสือ การใช้ภาษาไทย เล่นดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน 

นายโชติ ไกรศิริ.jpg
คนที่ 3. นายสวน หนุดหละ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ผู้ถวายงานแทงหยวกประดับพระจิตกาธานนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นผู้พัฒนารูปแบบใหม่ให้กับงานแทงหยวก ด้วยการคิดลวดลายผสมผสานขึ้นมา ปัจจุบันได้ถ่ายทอดให้กับลูกหลาน และรับเป็นวิทยากรให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่ออนุรักษ์งานแทงหยวกมิให้สูญหายไป 

นายสวน หนุดหละ.jpg

4. นายนครินทร์ ชาทอง สำเร็จการศึกษาปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตจากวิทยาลัยครูสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2527 รับราชการครู สนใจการแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทำการแสดงเรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักในนามหนังนครินทร์ ชาทอง ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง ประจำปี พ.ศ.2540

อ.นครินทร์ ชาทอง.jpg

คนที่ 5. นายสมพร คณะนา ศิษย์เก่าปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ สถาบันราชภัฏสงขลา คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ปวส. สาขาอุตสาหกรรมเครื่องเรือนและตกแต่งภายใน ปัจจุบันเป็นครูสอนประจำแผนกช่างเครื่องเรือนและการตกแต่งภายใน วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จ.สงขลา 

นายสมพร คณะนา.jpg

6. ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อดีตอาจารย์สถาบันราชภัฏสงขลา ได้รับการฝึกฝนการรำโนราและครอบมือจากขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางโนรา อ.ธรรมนิตย์ จึงฝึกเรียนท่ารำต่างๆ ที่เป็นแบบฉบับโนราโบราณ มีผลงานการแสดงมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการฝึกรำโนราสำหรับเผยแพร่ด้วย

ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์.jpg

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)