เจรจาลงตัว เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้พอใจมาตรการช่วยเหลือสลายการชุมนุมแบบไม่วุ่นวาย


18 พ.ค. 2561

เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้กว่า 1,000 คน รวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลถึงข้อสรุปที่จะใช้ในการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยรวมตัวกันที่เชิงสะพานติณสูลานนท์ โดยมีการประกาศว่าหากไม่ได้รับคำตอบที่พอใจอาจมีอาจปิดสะพาน เลขาฯ รมว.เกษตรฯ จนได้ข้อสรุปที่น่าพอใจและไม่มีการปิดสะพานหรือชุมนุมยืดเยื้อ

59.jpg

ตามที่เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาและขอให้มีคำตอบในการแก้ปัญหาก่อนวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 แต่ปรากฏว่ายังไม่มีคำตอบแต่อย่างใดในการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำที่ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)พิจารณาอนุมัติโครงการแทรกแซงราคากุ้งตกต่ำโดยวิธีการรับจำนำกุ้งและอนุมัติให้เปิดโครงการรักษาเสถียรภาพราคาเหมือนที่เคยนำมาใช้ในการแก้ปัญหาราคาตกต่ำ จำนวนอย่างน้อย 10,000 ตัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

(17 พ.ค.61) เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดสงขลา, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, กระบี่, พังงา, ปัตตานี, สตูลและนราธิวาส ได้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง บริเวณเชิงสะพานติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา หลังรอคำตอบจากรัฐบาล ซึ่งไม่มีความชัดเจนในข้อสรุปที่จะใช้ในการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ มีแต่เพียงภาคเอกชนที่ช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ปรับลดราคาอาหารกุ้งลง 1 บาท/กก., บริษัทซีพีปรับลดราคาลูกกุ้งลง 3 สตางค์/ตัวและสมาคมผู้ค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำอีกกว่า 30 บริษัทปรับลดราคาเวชภัณฑ์ลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 

นอกจากนี้ทางเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ได้ยกข้อเสนอเพิ่มเติมให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกิโลกรัมละ 2 บาท รายละไม่เกิน 10,000 กิโลกรัม พร้อมทั้งขยายเวลาการลดต้นทุนการผลิตเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 และแต่งตั้งคณะทำงานดูแลแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขยายระยะเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้าโดยไม่คิดดอกเบี้ย ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและให้พักชำระหนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงผู้กุ้งเป็นเวลา 1 ปี

54.jpg

นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในวันนี้ภาครัฐเอง ยังไม่ได้พูดคุยในเรื่องราคา ส่วนโครงการประชารัฐของรัฐบาลนั้น ให้ราคาตกต่ำมาก เนื่องจากกุ้ง 100 ตัว ต้นทุนอยู่ที่ 120 บาท แต่ในวันนี้ราคาขายได้ต่ำกว่าทุน 100 ตัว ได้ราคา 105 บาท นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอรัฐบาลไป 30 ตัว ราคา 240 บาท แต่ปรากฏว่าทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งให้ราคามา 180 บาท 

ซึ่งมันแตกต่างกันมาก เราเลี้ยงกุ้ง 3-4 เดือนขาย ปรากฏว่าไม่มีกำไรเลย บางรายถึงขั้นขาดทุนและวันนี้ได้ประสานในการนัดรวมพลคนเลี้ยงกุ้งและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งมารับฟังคำตอบจากรัฐบาลเพราะการเจรจานั้นผ่านมาเป็นเดือนแล้ว ทั้งนี้หากปัญหาราคากุ้งยังไม่รับการแก้ไขทางเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ ยืนยันจัดตั้งเวทีประท้วง จนกว่าจะมีมาตรการที่ชัดเจนแก่เกษตรกร  

ต่อมานายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ เลขานุการ รมว.เกษตรฯ พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมประมาณ 50 คน ประกอบด้วย คณะจากส่วนกลาง 8 คน ผู้แทนของกลุ่ม นำโดยนายครรชิต เหมรักษ์ และนายกาจบัณฑิต รามมาก กับผู้แทนกลุ่ม จำนวน 20 คน พร้อมส่วนราชการ และสื่อมวลชน 22 คน ที่ประชุมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.ราคากุ้งที่กลุ่มเสนอแต่ละขนาด
100 ตัว/กก.ราคา 130 บาท
90 ตัว/กก.ราคา 135 บาท
80 ตัว/กก.ราคา 145 บาท
70 ตัว/กก.ราคา 155 บาท
60 ตัว/กก.ราคา 170 บาท
50ตัว/กก.ราคา 190 บาท
40ตัว/กก.ราคา 210 บาท
30ตัว/กก.ราคา 230 บาท

57.jpg

2.แนวทางการแก้ไขจะใช้เงินจากกองทุนคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)ในวงเงินไม่เกินจังหวัดละ 5,000,000.-บาท เพื่อให้สามารถรักษาระดับราคาของกุ้งแต่ละขนาดให้เหมาะสมใกล้เคียงกับราคาที่กลุ่มเสนอ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบราชการ ซึ่งมีกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งมาร่วมชุมนุมพอใจในแนวทางข้างต้น และได้สลายตัวในเวลาต่อมา เวลาประมาณ 19.10 น.การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสงบ โดยไม่มีเหตุรุนแรงบานปลายและการปิดถนนแต่อย่างใด 

56.jpg55.jpg58.jpg