กยท.อัดงบ 250 ล้านเข้าตลาดกลางยางพารา หวังให้กลไกตลาดแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ


19 มิ.ย. 2561

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พร้อมอัดงบประมาณ 250 ล้านบาท เข้าตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ให้เกษตรกรชาวสวนยางรับเงินทันทีเมื่อขายให้ตลาดกลาง แก้ปัญหาความเดือนร้อนให้เกษตรกร ด้านรักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เชื่อถ้ามีกลไกการตลาดที่ดี ราคายางมันก็จะไม่ลง

page.jpg

วันนี้ (19 มิถุนายน 2561) ณ โรงแรมเซ็นทาราหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดงานประชุมสัมมนาในหัวข้อสถานการณ์ยางพารา และ แนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้การดำเนินงานของสมาคม ผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) มีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางจากทั่วโลกเข้าร่วมทั้งหมด 9 ประเทศจาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา โดยมีนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดประชุมมีทั้งหมด 3 วัน (19-21 มิถุนายน 2561) ทั้งการประชุมหารือ พร้อมการดูงานที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ดูงานการผลิตยางแผ่น ยางแท่ง ในจังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการหาแนวทางและแก้ปัญหายางตกต่ำ ซึ่งจะช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวสวนยางแต่ละประแทศสามารถขายผลผลิตในระดับที่พึงพอใจ อย่างไรก็ตาม การทบทวนระบบห่วงโซ่อุปทานยางพาราของแต่ละประเทศสมาชิก จะนำไปสู่การพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากระบวนการทำงานของตลาดยางพารา  ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน คาดว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับตลาดยางพาราและอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป

IMG_7416.JPG

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์  กล่าวต่อด้วยว่า ปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ เป็นปัญหาของทุกประเทศ ที่ประเทศไทยมี การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ที่ทำหน้าที่เบ็ดเสร็จ  เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเหลือให้ชาวสวนยางมีความคุ้มค่าในการทำสวนยาง โดยบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมทั้งหมด ทั้ง ปลูก วิจัย ส่งเสริม เป็นต้น

ในปัจจุบัน กยท.มีโรงงานแปรรูป ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และมีตลาดกลางยางพาราอยู่ 6 แห่งทั่วประเทศ ทั้ง อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา , จ.ยะลา ,จ.สุราษฯ  , จ.หนองคาย , จ.บุรีรัมย์ และ จ.นครศรีธรรมราช และใน สิ่งที่ กยท.กำลังดำเนินการ คือการจัดสรรเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท ให้สำหรับตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง เพื่อมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจ่าย ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มาขายยางพาราในวันนั้นๆ เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือตลาดไม่มีเงินจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางต้องรอให้ผ่านไปอีกวันถึงสองวันถึงจะได้เงิน ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้ชาวสวนยางพอสมควร งบส่วนนี้ทำเพื่อให้ชาวสวนยางที่มาขายยางให้กับ กยท.ได้เงินไปเลยนำเงินไปใช้จ่าย นี่คือสิ่งที่เราช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับชาวสวนยาง

และเมื่อมีเงินทุนหมุนเวียนแล้ว สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ ชาวสวนยางก็จะมาขายให้ตลาดกลางมากขึ้น  เมื่อมียางพารามาขายมากขึ้น ผู้ซื้อก็จะมาซื้อที่ตลาดกลางมากขึ้น เมื่อมีการซื้อมากขึ้น ก็จะผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ในระดับที่เป็นธรรมกับชาวสวนยาง นั้นคือประโยชน์ของตลาดกลางที่เราต้องเร่งฟื้นฟู ใช้ประโยชน์เพื่อผลักดันราคาให้สูงขึ้น

IMG_7406.JPG

ในส่วนของโรงงานที่ กยท.มีอยู่ เมื่อราคายางตกต่ำ กยท. จะให้ทั้ง 6 โรงงานที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ รับซื้อน้ำยางดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นยางแท่งก็ดี ยางแผ่นรมควันก็ดี ออกมา แล้วใช้ระบบการประมูลและขายตรงให้กับผู้ซื้อหรือผู้ใช้โดยตรง โดย พร้อมเปิดประมูลให้ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยางรถยนต์ ผู้ใช้ในประเทศก็ดี ผู้ใช้ต่างประเทศก็ดี ให้มาซื้อกับ กยท.โดยตรง โดยเราพร้อมจะขายในเดือนหน้า (กรกฎาคม 61)

ในปัจจุบันเรื่องของราคายางพาราที่ตกต่ำนั้น เกิดขึ้นเพราะถูกกำหนดโดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าเมื่อราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้าถูกกดลงมาก็กระทบกับราคาที่ส่งออกจริง  เพราะตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีการเก็งกำไรกันมากเกินไป ดังนั้น เราจึงต้องใช้กลไกการตลาด เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของราคา  ซึ่งราคาขายที่เกษตรกรควรจะได้ คือ ราคาต้นทุน บวก กำไรที่ควรจะได้รับ

ตอนนี้ที่ กยท.ทำไปแล้วที่โรงงานในภาคอีสานคือ ทาง กยท.รับซื้อยางก้นถ้วยของเกษตรกร ในราคาที่สูงกว่าผู้ซื้อในท้องถิ่นซื้อ 10 สตางค์ ต่อ 1 กิโลกรัม ต่อวัน เมื่อเราตั้งราคารับซื้อสูงกว่า ก็มียางเข้ามาให้ส่วนของโรงงาน กยท.มากขึ้น ซึ่งเป็นการประกันให้เกษตกรว่า เราจะซื้อไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตบวกกำไรที่เขาควรจะได้รับ ในภาคใต้ก็กำลังจะดำเนินการให้เหมือนภาคอีสาน

การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ผมจะเสนอแนวทาง ความร่วมมือ ว่า เราจะผลึกกำลังกันอย่างไร ให้ผู้ผลิตที่มีเพียงไม่กี่ราย เป็นผู้กำหนดราคา ไม่ใช่ให้ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคา เราจะสร้างกลไกทางการตลาดให้เข้มแข็ง ยกตัวอย่างที่หาดใหญ่ จะต้องมีลูกข่าย ที่มีความเข้มแข็ง เราจะส่งเสริมกลุ่มที่มีการทำยาง ให้ผลิตยางที่มีคุณภาพ และเอามาขายในตลาดกลาง และ กยท.จะเอาผลิตภัณฑ์นี้ ไปเพิ่มมูลค่า นี่คือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราตกต่ำ สิ่งสำคัญคือถ้ามีตลาดกลางก็จะมีการต่อรองราคา ถ้าต่อรองราคาไม่ได้ กยท.ก็จะซื้อไปผลิตเอง ซึ่งในแต่ละเดือนอาจจะเปิดประมูล 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง ก็ว่ากันไป  เชื่อแน่ว่าถ้ามีกลไกการตลาดที่ดี ราคามันก็จะไม่ลง นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กล่าวปิดท้าย

IMG_7404.JPGIMG_7381.JPGIMG_7379.JPG