มรภ.สงขลา ผนึกวธ. เสวนามหกรรมรามเกียรติ์ในการแสดงหนังตะลุงไทย-อาเซียน


8 ส.ค. 2561

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ห่วงนายหนังตะลุงรุ่นใหม่ละเลยการแสดงรามเกียรติ์ จับมือกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเวทีเสวนา เทียบเชิญมาเล-อินโด ร่วมถอดบทเรียนสู่การอนุรักษ์ ส่งต่อคนรุ่นใหม่  

DSC_7413.JPG

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการเสวนาในมหกรรม “รามเกียรติ์ในวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงของไทยและอาเซียน” ณ ณ หอประชุม 1 มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า รู้สึกชื่นชมในกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งในมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และมิติด้านศิลปกรรมให้กับนายหนังตะลุงรุ่นใหม่และผู้สนใจทั่วไป สร้างการเชื่อมโยงระหว่างการแสดงหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์กับวัฒนธรรมการแสดงหุ่นเงา ทั้งในประเทศและประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ในนามของ มรภ.สงขลา ที่นี่จะเป็นเวทีกลางให้ผู้สนใจในศิลปะแขนงนี้ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญ หลังจากนี้การผลึกกำลังกันระหว่างสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จะแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการแสดงหนังตะลุงในภาคใต้นิยมแสดงจินตนิยายเป็นหลัก หากแสดงเรื่องรามเกียรติ์ก็มักเป็นตอนสั้นๆ ในการแก้บน ในลักษณะทำพอเป็นพิธี กล่าวคือ ทำให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในแก่นของรามเกียรติ์ในวัฒนธรรมหนังตะลุงมากนัก ส่งผลให้ความเข้มข้นที่มีในวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงเริ่มถดถอยในกลุ่มของนายหนังตะลุงรุ่นใหม่ ซึ่งหากรามเกียรติ์ยังคงถูกละเลยจากนายหนังอาจมีผลต่อการแสดงหนังตะลุงในเชิงอนุรักษ์ที่สามารถอนุรักษ์ได้แค่เปลือก แต่ยังไม่ถึงแก่นที่แท้จริง ไม่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของการแสดงหนังตะลุงในด้านวิถีความเชื่อ ซึ่งแฝงไปด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของบรรพชนคนไทยภาคใต้

นายโอภาส กล่าวอีกว่า การแสดงหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์จึงมีความสำคัญในการสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านอารยธรรมและศิลปะการแสดง เป็นสื่อทางจิตวิญญาณในด้านความเชื่อของคนไทยภาคใต้ เป็นวรรณกรรมต้นแบบที่ทรงคุณค่า และยังเป็นวัฒนธรรมร่วมของศิลปะการแสดงหุ่นเงาในหลายวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น นายหนังตะลุงยุคใหม่ผู้ซึ่งจะต้องรับหน้าที่ในการธำรงวัฒนธรรมนี้เอาไว้ในอนาคต จึงควรที่จะมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ส่งต่อคุณค่าดังกล่าวไปสู่นายหนังตะลุงรุ่นใหม่ๆ ต่อไป

ขณะที่ อ.ประเสริฐ รักวงษ์ เลขานุการสมาพันธ์ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในนามศิลปินแห่งชาติ อ.นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) ปี 2550  ซึ่งได้รับการอุดหนุนงบประมาณจัดทำโครงการจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยร่วมกับสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ รวมทั้งบันทึกและเผยแพร่การแสดงหนังตะลุงเชิงอนุรักษ์เรื่องรามเกียรติ์ในรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมการเสวนาเป็นตัวแทนนายหนังตะลุงจาก จ.สงขลา จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก จ.อุบลราชธานี จ.เพชรบุรี ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย

DSC_7407.JPG

ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง รามเกียรติ์กับศิลปะการแสดงในวัฒนธรรมไทยและอาเซียน จากวิทยากร รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ดร.พรเทพ บุญจันเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายอุดมศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฎศิลป์พัทลุง กระทรวงวัฒนธรรม อ.วาที ทรัพย์สิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ มรภ.นครศรีธรรมราช ดำเนินรายการโดย ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา เสวนาเรื่องวัฒนธรรมการแสดง “หนัง” เรื่องรามเกียรติ์ ในประเทศไทย โดยนายหนังตะลุงในแต่ละภูมิภาค กิจกรรมนำเสนอและสาธิตหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์จากภูมิภาคอาเซียน เสวนาในหัวข้อศิลปกรรมรูปหนังเรื่องรามเกียรติ์ โดยทีมวิทยากรมหาวิทยาลัยศิลปากร  

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมภาคกลางคืนมหกรรมหนังตะลุงรามเกียรติ์อาเซียน 5 คณะ การแสดงหนังตะลุง เรื่องรามเกียรติ์จากนายหนังตะลุงมืออาชีพ

DSC_7432.JPGDSC_7452.JPGDSC_7333.JPGDSC_7322.JPG