ปศุสัตว์สงขลา เดินหน้ามาตรการป้องกันสารเร่งเนื้อแดงในสุกร


22 ต.ค. 2561

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เดินหน้ามาตรการป้องกันสารเร่งเนื้อแดงในสุกร เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

3.jpg

นายสัตวแพทย์กิตติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ตลอดจนกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากการที่ผู้เลี้ยงสุกรส่วนหนึ่งมีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์เพื่อปรับปรุงคุณภาพซากให้มีเนื้อแดงเพิ่มขึ้นและไขมันลดลงซึ่งทำให้เกิดการตกค้างในเนื้อสุกร เพื่อตอบสนองค่านิยมในการบริโภคเนื้อของคนไทยที่มีความเชื่อว่าเนื้อที่สีแดงสดใสมีความน่ารับประทาน ทำให้ร้านขายเนื้อต้องการสุกรขุนที่นำมาฆ่าชำแหละแล้วเนื้อที่ได้ต้องมีสีแดงและไขมันบ้างส่งผลให้ผู้เลี้ยงโค สุกร ต้องหาวิธีปรับปรุงคุณภาพซากให้ได้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อทำให้ผู้เลี้ยงสุกรผสมสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ลงในอาหาร

กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการส่งตรวจฟาร์มเลี้ยงสุกร เพื่อตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค โดยได้ดำเนินการทั่วประเทศทำให้ปัจจุบันการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดลงอย่างมากจากในปี พ.ศ 2557 พบสารเร่งเนื้อแดงร้อยละ 3.5 จากการเก็บตัวอย่างปัสสาวะสุกรทรงผนวชและพบเพียงร้อยละ 0.7 ในปี พ.ศ. 2560 จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและอัตราโทษที่ผู้ใช้และผู้ขายสารดังกล่าวค่อนข้างสูง ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 คาดว่าการใช้สารเร่งเนื้อแดงจะหมดไปจากประเทศไทยในอนาคต

ทั้งนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างปัสสาวะสุกรเพื่อตรวจหาสารเร่งเนื้อแดง โดยในปี พ.ศ. 2559 เก็บตัวอย่าง จำนวน 527 ตัวอย่าง ตัวอย่างพบสารเร่งเนื้อแดง จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.95 เปอร์เซ็นต์, ปี พ.ศ. 2560 เก็บตัวอย่างจำนวน 623 ตัวอย่าง ไม่พบสารเร่งเนื้อแดงในทุกตัวอย่างและปีพ.ศ. 2561 เก็บตัวอย่าง 516 ตัวอย่างพบสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 10 ตัวอย่างคิดเป็น 1.94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฟาร์มที่ให้ผลบวกต่อสารเร่งเนื้อแดง สำนักงานฯ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 6 (4) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ทุกราย

2.jpg1.jpg5.JPEG

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา