ธปท.ใต้ เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้ ท่องเที่ยวชะลอตัว รายได้เกษตรยังต่ำ แต่ภาคอสังหาฯขยายตัวเพิ่ม


2 พ.ย. 2561

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เผยข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 3 ประจำปี 2561 ยังขยายตัวจากระยะเดียวกันกับปีก่อน  ด้านผลผลิตภาคเกษตรชะลอตัวและราคายังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังหดตัวต่อเนื่อง ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว

IMG_0399.jpg

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2561) ณ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดงานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 3 ประจำปี 2561 โดยมีนายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นผู้แถลงข่าว โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า  ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวจากระยะเดียวกันกับปีก่อน แต่ชะลอลงจาก ไตรมาสก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญภาคใต้หดตัวจากผลของราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะเดียวกันผลผลิตภาคเกษตรชะลอตัวและราคายังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว สำหรับการท่องเที่ยวชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลลดลงจากไตรมาสก่อน

002.jpg

ปัจจัยสำคัญ  ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่ลดลง ผลกระทบเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 และเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าหลังจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เอเชียอื่น ๆ (ไม่รวมจีน) และยุโรป ขยายตัว หากพิจารณาตามพื้นที่ การท่องเที่ยวขยายตัวในภาคใต้ชายแดน ขณะที่ในฝั่งอันดามันชะลอลงมาก ส่วนฝั่งอ่าวไทยหดตัว

ด้าน ผลผลิตเกษตรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.0 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลผลิตกุ้งขาวลดลงตามการลงลูกกุ้งที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตยางยังขยายตัว ตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาสินค้าเกษตรสำคัญภาคใต้หดตัวร้อยละ 16.5 โดยราคายางพาราลดลง ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสต็อกยางเซี่ยงไฮ้อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันราคากุ้งขาวลดลงตามปริมาณอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากอินเดีย ราคาปาล์มน้ำมันลดลงสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 13.2

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2561 คาดว่า น่าจะชะลอตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงรายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ จากด้านราคาเป็นสำคัญ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนและผลของปัจจัยลบต่างๆต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีน

IMG_0382.jpg

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์

IMG_0405.jpgIMG_0365.jpg003.jpg004.jpg005.jpg006.jpg