สงขลา เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาราคาพริกเขียวมันตกต่ำ หาช่องทางการตลาดรองรับผลผลิต


12 ธ.ค. 2561

จังหวัดสงขลา เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาราคาพริกเขียวมันตกต่ำหลังฤดูน้ำหลาก ในช่วงมกราคม-เมษายนของทุกปี พร้อมพยุงราคาสินค้าและหาช่องทางการตลาดในการรองรับผลผลิต

1.jpg

วานนี้ (11 ธ.ค. 61)  นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมหารือและระดมความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับราคาผลผลิตและตลาดรองรับพริกเขียวมันที่ตกต่ำในห้วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพริกเขียวมันหลังฤดูน้ำหลาก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี โดยมีนายอำเภอระโนด เกษตรจังหวัด พาณิยช์จังหวัด เกษตรอำเภอ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนและเกษตรกรที่ปลูกพริกเขียวในอำเภอระโนดและอำเภอใกล้เคียงเข้าร่วม

จากกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกเขียวมัน จังหวัดสงขลา ในช่วงหลังฤดูน้ำหลากที่ออกผลผลิตมาจำนวนมาก โดยเฉพาะอำเภอระโนดพื้นที่ปลูกประมาณ 3,217 ไร่ เกษตรกรจำนวน 1,257 ราย ผลรวมประมาณ 6,434,000 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ช่วงเดือนที่ผลผลิตสูงสุดเดือนมิถุนายน ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงสุด 45 บาทต่อกิโลกรัมและขายได้ราคาต่ำสุด 7 บาทต่อกิโลกรัม ค่าเก็บเกี่ยวกิโลกรัมละ 7 บาท ต้นทุนการผลิตประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม และอำเภอกระแสสินธุ์พื้นที่ปลูกประมาณ 230 ไร่ เกษตรกรจำนวน 160 ราย ผลผลิตรวมประมาณ 460,000 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2,000 กิโลกรัม ช่วงเวลาปลูกหลังฤดูน้ำหลากประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนและช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ช่วงเดือนที่ผลผลิตสูงสุดเดือนมิถุนายน ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงสุด 45 บาทต่อกิโลกรัม ขายได้ต่ำสุด7 บาทต่อกิโลกรัม ค่าเก็บเกี่ยวกิโลกรัมละ 8 บาท ต้นทุนการผลิตประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับตลาดส่งออกพริกเขียวมันมีตลาดหลักจากโรงงานในประเทศมาเลเซีย ที่ส่งออกมากสุดเพื่อผลิตซอสพริกอย่างเดียวเท่านั้น โดยส่งผ่านช่องทางด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาและซอสพริกโรงงานประเทศมาเลเซียที่ผลิตทั้งหมดจัดส่งจำหน่ายประเทศตะวันออกกลางเพราะได้รับเครื่องหมายฮาลาล ในส่วนโรงงานทำซอสในประเทศไทยมีเพียงหนึ่งโรงงานซึ่งรับได้ปริมาณ 1.5 ตันต่อปี และปัญหาสำคัญในการส่งออกคือคุณภาพของพริกไม่สามารถเก็บไว้ได้นานนอกจากนี้ยังประสบปัญหาโรคพริกที่เกิดจาก เชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคกุ้งแห้ง โรคยอดไหม้ โรคโคนเน่า และอาการใบพริกเหลือง ต้นพริกเหี่ยวแห้งยืนต้นตายและเกษตรกรไม่เก็บพริกที่เป็นโรคหรือแมลงออกไปเผาทำลาย ทำให้การแพร่กระจายของโรคและแมลงได้รวดเร็ว

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการปลูกพริกเขียวมันในพื้นที่อำเภอระโนดและอำเภอกระแสสินธุ์ ประสบปัญหาผลผลิตปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาด รวมทั้งขาดแรงงาน ทำให้การจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตสูง กิโลกรัมละ 7 บาท และมีการปลูกพริกในอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียงเช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 3,761 ไร่ ผลผลิตประมาณ 522,000 กิโลกรัม อีกทั้งราคาผลผลิตมีการผูกขาดโดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรประสบปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการระดมความคิดและการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการลดพื้นที่ปลูกพริกเขียวมันให้น้อยลง ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แตงกวา ฟักทองฟักเขียวหรือพืชผักอื่นๆที่ตลาดต้องการหรือภายใต้ "การตลาดนำการผลิต" นอกจากนี้ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถต่อรองกับพ่อค้าในการจำหน่ายผลผลิตได้ เมื่อกลุ่มมีความเข้มแข็งให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการผลิตของชุมชนแบบครบวงจรและการเชื่อมโยงกันระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม

นางสุนิสา มโนสินธุ์ อายุ 47 ปี เกษตรกรปลูกพริกเขียวมัน กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาด การผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น ปัญหาด้านเงินทุนและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากพริก และหาตลาดให้แก่เกษตรกรที่จะรองรับราคาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นอีกใน 2-3 เดือนข้างหน้าและผลผลิตที่ออกมาประมาณเดือนมีนาคมนี้

ด้านนายประสงค์ พีรธรากุล เกษตรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาได้มีการเตรียมการในขั้นต้นซึ่งพี่น้องเกษตรกรจะเริ่มปลูกพริกประมาณช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ โดยในวันนี้ได้มีการวางแผนการจัดการสำรวจข้อมูลว่าแต่ละครัวเรือนมีการปลูกพริกเท่าไรและมีการเกษตรอื่นๆจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะได้ทำการประสานกับภาคเอกให้รับทราบถึงปริมาณและวางแผนการผลิตต่อไป สำหรับเรื่องราคานั้นต้องดูถึงคุณภาพของผลผลิตว่าผลิตสินค้าได้ตรงกับคุณภาพที่ต้องการหรือไม่

11.jpg4.jpg16.jpg

ข่าวโดย ศิริลักษณ์ แค้วคลาด /ข่าว อรรคพงษ์ บุญชีพ/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา