เปิดงาน วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปูชนียบุคคลของภาคใต้


14 ม.ค. 2562

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ จ.สงขลา เปิดงาน “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ปูชนียบุคคลของภาคใต้

IMG_0017.jpg

วันนี้ (14 ม.ค. 62) ที่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายพงศ์ศักติ์ฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา นางสมศรี รักนุ้ย วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมให้การต้อนรับ

IMG_0167.jpg

ตามที่องค์กรร่วมจัดงานได้มีการประกาศเจตนารมณ์ให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปีเป็น “วันศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์”เพื่อรำลึกถึงคุณูปการศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และสืบสานแนวคิดการพัฒนาด้านคติชนวิทยาและวัฒนธรรมภาคใต้และในปี 2562 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีองค์กรร่วมจัดงาน ได้แก่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา มูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ครอบครัวศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้จัดการออนไลน์ภาคใต้ และคณะศิษยานุศิษย์กำหนดจัดงานขึ้นในครั้งนี้

สำหรับ “ศาสตราจารย์สุธิวงศ์” เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาคนแรก ถือเป็นปูชนียบุคคลของภาคใต้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นักวิชาการที่บุกเบิกงานศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านและคติชนวิทยาของภาคใต้ เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในรูปของเอกสาร วัตถุสิ่งของ แถบบันทึกเสียง แถบภาพที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้ และขนบธรรมเนียมนิยมในท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของไทย จนเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการ และได้ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจงานศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงโนราพิธีจากมหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยอาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์โอภาส อิสโม และคณะครูควรทวนยก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) และคณะเพลงปี่ประกอบการแสดง , โนราขับบุตร โดยโนราโจ๊ก ดาวรุ่ง และโนราดักดูด การอ่านบทกวี โดยศิลปิน นักคิด นักเขียนอาทิ สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ วรภ วรภา นักเขียนรางวัลช่อการะเกด ฯลฯ การปาฐกถา เรื่องโนรา : จากวัฒนธรรมราษฎร์ สู่ “มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติ” โดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ ที่ปรึกษากรมศิลปากร ผู้ทรงคุณวุฒิ(นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องยกชั้นวัน ส.สุธิวงศ์ : ยกชั้นโนรา สู่มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติอีกด้วย

IMG_0154.jpgIMG_0018.jpgIMG_0173.jpg

ข่าวโดย สุธิดา พฤกษ์อุดม สสท.สงขลา รายงาน 14 ม.ค.62