เด็กใต้ประกาศศักดากวาด 5 รางวัลโครงการ Young Makers Contest ปี 3


7 ก.พ. 2562
ต๊อบ มื่อ ดัง ดั๋ง

ให้กับเด็กใต้นำโดย “วท.สุราษฎ์-สตรีพัทลุง” ที่ประกาศศักดาความเป็นนักประดิษฐ์แดนใต้ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 3 ในหัวข้อ ‘Green Innovation นวัตกรรมโลกสีเขียว’ นอกจากนั้นวท.สุราษฎ์ ยังคว้าอีก 2 รางวัล ในสายอาชีพคือ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลขวัญใจกรรมการ ด้าน วิทยาลัยการอาชีพไชยา ไม่น้อยหน้าคว้ารางวัลขวัญใจกรรมการกลับบ้านไปอีก 1 รางวัล รวมรางวัลที่เด็กใต้กวาดในครั้งนี้ไปทั้งสิ้น 5 รางวัล

โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest เปิดเวทีให้เยาวชนส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้ามาประกวดภายใต้หัวข้อต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือพันธมิตรหลัก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนลองคิดและลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ที่จะช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในชุมชนของตนเอง ตลอดจนปลูกฝังความเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม อันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการนำประเทศก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

กว่าจะออกมาเป็นผลงานชนะเลิศสายสามัญ หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง 2 หนุ่มเมกเกอร์มือใหม่ นายมานพ คงศักดิ์และนายสุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 17 ปี ได้เล่าถึงผลงานโลกสีเขียวชิ้นนี้ว่า “พวกเราใช้เวลาพัฒนาและต่อยอดถึง 6 ปี จุดเริ่มต้นมาจากบริเวณโรงเรียนของพวกเราอยู่ติดกับคลองที่มีน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วโรงเรียนและชุมชน ซึ่งพบว่า ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นคือ คราบน้ำมันที่ถูกปล่อยทิ้งลงในคลองซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เราจึงริเริ่มประดิษฐ์หุ่นยนต์ขจัดคราบสิ่งสกปรกบนผิวน้ำที่ทำจากวัสดุที่มีการคิดค้นมาเป็นอย่างดีว่าสามารถขจัดคราบน้ำมันได้อย่างแท้จริง โดยมีหลักการทำงานคือ ตัวหุ่นยนต์มีการติดกล้องไว้ด้านบนเพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีคราบน้ำมันอยู่บริเวณใดบ้างซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้ และยังช่วยลดงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่เก็บสิ่งปฏิกูลบริเวณแม่น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ ตัวหุ่นยนต์นี้มีลูกกลิ้งที่ใช้สำหรับเก็บคราบน้ำมันซึ่งทำงานโดยแบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้นานขึ้นถึงสามสิบนาที เพียงนำหุ่นยนต์ลงไปวิ่งในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำนิ่งก้สามารถช่วยขจัดคราบน้ำมัน ทำให้แหล่งน้ำสะอาดไม่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ช่วยให้ชุมชนน่าอยู่ขึ้นครับ”

ด้าน “Clean Oyster” ผลงานชนะเลิศสายอาชีวะจาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของสองคู่หู นายนูรุดดีน เจะปี ชั้น ปวส.1 อายุ 19 ปี และนายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ ชั้นปวส. 2 อายุ 20 ปี น้องๆได้กล่าวถึงสิ่งประดิษฐ์รักษ์โลกของพวกเขาให้ฟังว่า “เราได้ลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมฟาร์มหอยนางรม นำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเครื่อง Clean Oyster ที่มีกลไกทำความสะอาดหอยด้วยระบบคลื่นน้ำ ทำหน้าที่หลักสองประการคือ ทำให้หอยรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ หอยนางรมก็จะเปิดปาก ให้คลื่นน้ำสามารถเข้าไปพาสิ่งสกปรกออกมาจากตัวหอยนางรม ส่วนสิ่งสกปรกที่ออกมาจากตัวหอยจะถูกกำจัดโดยระบบกรองสามชั้นที่ติดตั้งในเครื่องนี้ เริ่มจากการใช้สาหร่ายพวงองุ่นที่ซึ่งจะช่วยดูดซับแอมโมเนียจากตัวหอยและหลังจากนั้นจะมีการกรองหยาบ กรองละเอียดในบ่อที่ 1 และใช้หลักการน้ำล้นให้ไปสู่บ่อที่ 2 ซึ่งมีไบโอบอลทำหน้าที่สร้างออกซิเจนและดักจับสิ่งสกปรกเหนือผิวน้ำ สุดท้ายจะถูกส่งไปที่บ่อกรองที่ 3 ซึ่งเป็นบ่อพักน้ำที่มีแสงยูวีซึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกทั้งหลายเพื่อนำน้ำกลับไปใช้ใหม่ ทำให้มั่นใจได้เลยว่าหอยนางรมที่ถูกทำความสะอาดจากเครื่องนี้สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภค และที่สำคัญไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากใช้คลื่นน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน” ทั้งนี้ ผู้ชนะทั้งสองทีมจะได้รางวัลตั๋วเครื่องบินและตั๋วเข้าชมงานเมกเกอร์ แฟร์ เบย์ แอเรีย ต้นตำรับงานเมกเกอร์ แฟร์ระดับโลกเพื่อไปกระทบไหล่เมกเกอร์มือโปรต่างชาติ พร้อมทั้งยังได้พรีเซ็นต์ผลงานของตัวเองในงานนี้อีกด้วย

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกล่าวว่า ทีมที่คว้ารางวัลเก่งมากจริงๆ ที่ฝ่าฟันผู้สมัครจากทั่วประเทศกว่า 399 ทีมมาได้ ซึ่งแต่ละผลงานล้วนมีความน่าสนใจ ทำให้กรรมการตัดสินค่อนข้างยาก ขอชื่นชมเด็กใต้ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ทั้ง 2 ประเภท โดยทั้งสองผลงานมีที่มาจากเรื่องใกล้ตัวคือความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง ซึ่งนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมายก็มักเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เช่นนี้ เหมือนสิ่งประดิษฐ์ทั้งสองชิ้น ที่มีศักยภาพที่จะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวงกว้างได้”

นอกจากรางวัลชนะเลิศทั้งสองประเภทแล้ว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ยังตกเป็นของ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี จากผลงาน “เครื่องซีลผักสูญญากาศแบบแนวตั้งด้วยแรงดันน้ำ” ที่ใช้หลักแรงดันน้ำ ในการถนอมผักไฮโดรโพนิค ยืดอายุไม่ให้เน่าเสีย รางวัลขวัญใจกรรมการจาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์อีกเช่นเดียวกัน ในผลงาน “ปะการังเทียมจากวัสดุจีโอโพลีเมอร์” ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติหลอมเป็นปะการังเทียมไม่ทำลายระบบนิเวศน์ใต้น้ำ ด้าน วิทยาลัยการอาชีพไชยา จากสุราษฎ์ธานีก็ไม่น้อยหน้าได้รางวัลขวัญใจกรรมการกลับบ้านไป จากผลงาน “เครื่องล้างทะลายปาล์มผสมจุลินทรีย์ชีวภาพระบบรีไซเคิลน้ำ” ที่เจาะกลุ่มฟาร์มเห็ดให้มีเครื่องล้างทะลายปาล์มให้สะอาดทำให้มีผลผลิตเห็ดที่ดีขึ้น