​ก้าวสำคัญ กัญชาทางการแพทย์ในภาคใต้ ม.อ.พร้อม ปลูก ผลิต สกัด วิจัย กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วย


12 มี.ค. 2562

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานแถลงข่าวความพร้อมในการ ปลูก ผลิต สกัด วิจัย กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ระดมศักยภาพทางวิชาการจากคณะต่างๆที่เกี่ยวข้อง มั่นใจความพร้อมตั้งแต่การปลูก การนำมาใช้เป็นอาหารยาและใช้กับผู้ป่วยทางการแพทย์ ประเดิมจัดสัมมนาด้านกฎหมาย พร้อม ชวนทุกท่านก้าวขา ออกวิ่งสมทบทุนโครงการวิจัยเพื่อนำใช้กับผู้ป่วย “วิ่งกัญ(ชา) Run to fight cancer” วิ่งสะสมระยะทาง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

วันที่12 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมเฉลิมพระบารมี ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการจัดแถลงข่าว “ความพร้อมในการปลูก ผลิต สกัดใช้และวิจัยกัญชาทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วย โดยมี ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ,รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ , ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ , ผศ.ดร.วันดี อุดมอักษร ผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.ภก.นิมิตร วรกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ , รศ.ดร.วิโรจน์ ยูรวงศ์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร และ รศ.ดร.สนั่น ศุภธีรสกุลคณบดีคณะการแพทย์แผนไทย ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้

ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาเพื่อวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ได้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการประชุมคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นโอกาสในการใช้ศักยภาพทางวิชาการของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อสังคมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เนื่องจากสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ตั้งแต่การเพาะปลูก การวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การผลิตยา จนถึงการนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยจากนี้ไปจะเห็นความร่วมมือกันในด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีคณะแพทยศาสตร์ซึ่งมีการเรียนการสอนและให้การรักษาพยาบาล รวมทั้งการวิจัยทางด้านการแพทย์ มีนักวิชาการและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ ที่สามารถนำประโยชน์จากกัญชามาใช้กับผู้ป่วย โดยเบื้องต้นจะเน้นการศึกษาทางคลินิกโดยที่ศึกษาผลการลดความเจ็บปวดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และการตรวจปริมาณกัญชาในปัสสาวะ

ในส่วนการผลิตต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยมีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้านพืช ดินปุ๋ยและศัตรูพืช ที่จะเป็นนำความรู้จากงานวิจัยสู่การผลิตต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยเพื่อส่งต่อวัตถุดิบไปยังฝ่ายสกัดสารสำคัญ และใช้ในด้านการแพทย์ มีสถานที่ทำการวิจัยที่เป็นโรงเรือนแบบปิดมีระบบอัตโนมัติ ควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตลอดจนการควบคุมอุณหภูมิโดยระบบพ่นหมอก และพัดลมระบายอากาศ มีอาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมครุภัณฑ์ครบสำหรับการขยายพันธุ์กัญชาโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ต้นที่ตรงตามพันธุ์จำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ

เรามีคณะเภสัชศาสตร์ ที่มีความเป็นเลิศด้านระบบนำส่งและยาสมุนไพร มีอุปกรณ์ในการสกัดขนาดกึ่งอุตสาหกรรม และเครื่องมือในการวิเคราะห์สารสกัด มีเทคโนโลยีการนำส่งยาแบบสูดพ่น และเทคโนโลยีด้านการเตรียมยารูปแบบอื่นๆ มีความรู้เรื่องการสังเคราะห์และการดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยจะมีโครงการวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และวิจัยการดัดแปลงสูตรโครงสร้างของสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการตั้งตำรับยาเตรียมและการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์

มีภาควิชาเภสัชวิทยาของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถศึกษาปริมาณยาหรือสารสกัดที่ถูกดูดซึม การกระจายยา การกำจัดยา การกำหนดขนาด การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหรืออาการไม่พึงประสงค์ของยาเตรียมหรือสารสกัดสมุนไพร

คณะอุตสาหกรรมเกษตรและบัณฑิตวิทยาลัยสหวิทยาการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารสุขภาพ มีบุคลากรทีมีความพร้อมและความสามารถทางด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์และอาหารทางโภชนาการ มีเทคโนโลยีและเครื่องสกัดสารออกฤทธิ์จากกัญชาและวัตถุดิบอื่นๆระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วย รวมทั้งมีเทคโนโลยีและโรงงานระดับกึ่งอุตสาหกรรมสำหรับผลิตอาหารแปรรูปให้สามารถเก็บรักษาได้นานมีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อการบริโภค


นอกจากนั้นยังมีคณะการแพทย์แผนไทย ที่มีความพร้อมในด้านวิชาการในส่วนขององค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยในการใช้สมุนไพรกัญชาในเชิงตำรับยา ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการใช้สารสกัดกัญชาเพียงอย่างเดียว ในการช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆที่เกิดในผู้ป่วยที่มีร่างกายเสื่อมโทรมจากโรคเรื้อรังต่างๆ จนร่างกายผ่ายผอม นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ และมีอาการปวดเรื้อรัง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสามารถนำสู่งานวิจัยทั้งในเชิงการศึกษาผลการรักษา และศึกษาความปลอดภัยการพัฒนารูปแบบตำรับยาแผนไทย

ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านการวิจัยและการรักษา กองทุนวิจัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัญชา มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะมีการรับลงทะเบียนผู้สนใจที่จะรับทราบข้อมูลและความคืบหน้าในทุกด้านที่เกี่ยวกับการวิจัยและการรักษาด้วยกัญชาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผู้สนใจสามารถสมัครออนไลน์หรือทางอีเมล์ หรือทางจดหมายเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยและการรักษาด้วยกัญชาและประสานงานเรื่องอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะจัดหลายกิจกรรมเพื่อนำร่องสู่การปลูก ผลิต สกัดใช้ วิจัยกัญชาทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยกิจกรรมแรกคือ การสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “กัญชา...งานวิจัยและข้อกฎหมาย” วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 13.00 น. – 16.30 น. ที่ห้อง A501 ชั้น 5 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เกี่ยวกับทิศทางการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชา เพื่อนำมาพัฒนาหรือเป็นแนวทางในการวิจัยที่เกี่ยวกับพืชกัญชา และกิจกรรมงานวิ่ง “วิ่งกัญ(ชา) Run to fight cancer” ซึ่งเป็นการวิ่งสะสมระยะทาง ระยะเวลาระหว่าง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

สถานที่ติดต่อ ข้อมูลทางวิชาการด้านการทำวิจัยทางการแพทย์และการรักษา ด้วยกัญชา ฝ่ายข้อมูลข่าวสารด้านกัญชา หน่วยวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ E-mail : [email protected] Web site : http://apdu.medicine.psu.ac.th