​ม.อ.ร่วมกับ NETH พัฒนาวิศวกรและงานวิจัยทางด้านสมองกลฝังตัวในรถยนต์ต่อเนื่อง


19 เม.ย. 2562

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ตกลงร่วมมือพัฒนาวิศวกรและงานวิจัยทางด้านสมองกลฝังตัวในรถยนต์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4” ก้าวสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัยทางด้านสมองกลฝังตัวในรถยนต์


วันที่ 19 เมษายน 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือรู้จักกันในชื่อ NETH เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ในรถยนต์ แถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนาวิศวกรที่มีทักษะพร้อมทำงานและงานวิจัยทางด้านสมองกลฝังตัวในรถยนต์ ในโครงการ “NETH-PSU Research Collaboration” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมี รศ.ดร. ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ , Mr. Koichi Okoshi ซีเอโอ บริษัท โตโยต้า ทูโชฯ รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท ทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น คณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าวครั้งนี้


คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท NETH ในการให้ทุนสนับสนุนศูนย์วิจัยร่วมเพื่อเป็นฐานหลักในการสร้างวิศวกรที่มีความสามารถพร้อมสำหรับการทำงานทางด้านสมองกลฝังตัว รองรับอุตสหากรรมรถยนต์ ในหัวข้อ

1) Software Quality Assurance for automotive industry

2) FPGA Training for automotive industry

3) Model Based Design Training for automotive industry

ในโครงการ จะมีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมสำหรับการทำงาน ฝึกทักษะหลากหลายผ่านการเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning การให้โจทย์โครงงานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี การให้โจทย์วิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก รวมทั้งงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2561 นักศึกษาในโครงการผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้รับการจ้างงานจากบริษัทกว่า 50 อัตรา นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานได้ทันทีที่จบการศึกษา โดยไม่ต้องผ่านช่วงการทดลองงาน


ในปีที่ผ่านมา ได้จัดให้มีกิจกรรมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติมากขึ้น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นในกิจกรรม Bridge Workshop on Embedded System between Thailand and Japan ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ Asia Pacific Conference on Robot IoT System Development and Platform (APRIS) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต การจัดประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในงาน 2018 IEEE 5th International Conference on Smart Instrumentations, Measurement & Applications (ICSIMA 2018) ณ โรงแรมบีพี สมิหลา สงขลา

จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่อุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และยกระดับให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนในการสร้างทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัยทางด้านสมองกลฝังตัวในรถยนต์