นักวิจัย ม.อ. ร่วมผลักดัน 7 เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ชูการอนุรักษ์ก่อนด้านเศรษฐกิจ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พาสื่อตะลุยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่น มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก ด้านนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมผลักดัน 7 เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน Community Based Tourism เป็นการบริหารจัดการและดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งมีความน่าสนใจในการสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ลานมังกร เทศบาลนครภูเก็ต มีการจัดกิจกรรมต้อนรับสื่อมวลชนที่มาร่วมงานท่องเที่ยวชุมชนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมี คุณกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต พร้อมด้วย ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและแขกผู้มีเกียรติร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลในครั้งนี้
ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในบริบทของวิสาหกิจชุมชน” เปิดเผยว่า การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มุ่งไปสู่ Community Based Tourism และ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวของชุมชน” ซึ่งนักวิจัยเข้าไปให้ความรู้ด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเราจะเน้นด้านการอนุรักษ์มาเป็นอันดับ 1 ก่อนการที่จะตามมาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคัก
โดยการตลาดและการสร้างแบรนด์ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนภาคใต้ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยพื้นที่ดำเนินโครงการคือ ชุมชนท่องเที่ยว ตำบลราไวย์ (เกาะโหลน) ชุมชนท่องเที่ยว บ้านแขนน (หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง) ชุมชนท่องเที่ยว บ้านท่าฉัตรไชย ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางเทา-เชิงทะเล ชุมชนท่องเที่ยว ตำบลป่าคลอก ชุมชนท่องเที่ยว ย่านเมืองเก่าภูเก็ต และชุมชนท่องเที่ยวตำบลกมลา นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้กลุ่มเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนอันดามัน จัดการส่งเสริม 7 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอื่นในกลุ่มเครือข่ายได้แก่ จังหวัดพังงา กระบี่ ตรง สตูล และ ระนอง
ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา กล่าวต่อว่า “ในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดการขยะ การอนุรักษ์ทรัพยากรและวัฒนธรรมในพื้นที่ให้คงอยู่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนก็ต้องมีเอกลักษณ์น่าสนใจ นั่นก็คือมีผู้นำชุมชนที่เป็นนักพัฒนา และคนในชุมชนเองก็ให้ความร่วมมือร่วมใจกันดีมาก ทำให้นักวิจัยลงพื้นที่ทำงานสะดวกขึ้น”
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ก็มีการพาเยี่ยมชม ย่านเมืองเก่า – ถนนกลาง ของจังหวัดภูเก็ต สถาปัตยกรรมผสมผสานวัฒนธรรมของจีนและตะวันตก (ชิโน โปรตุกีส ) การเยี่ยมชมมิวเซียมภูเก็ต และ นิทรรศการภูเก็ตนครา เพอรานากันนิทัศน์ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต อดีตเป็นอย่างไร พื้นเพคนภูเก็ต อาหารพื้นเมือง เป็นต้น