ผลงานวิจัย ม.อ.ภูเก็ต ไข่มุก และ สาหร่ายพวงองุ่น สินค้าเพิ่มรายได้ พร้อมต่อยอดสู่จังหวัดอื่น


4 พ.ค. 2562

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นวิจัยผลิตภัณฑ์ ไข่มุกอันดามัน และ สาหร่ายพวงองุ่น เพิ่มรายได้ชุมชนจากผลงานวิจัย พร้อมเตรียมส่งต่อความสำเร็จ ต่อยอดไปสู่จังหวัดใกล้เคียง และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลในอนาคต

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่มุก ภูเก็ต เพิร์ล จังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการจัดกิจกรรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่มุก และ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น โดยมีนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรรนิการ์ กาญจนชาตรี คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม , นางสาวจุฑาพร เกษร นักวิจัยของคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ. พร้อมทีมงานและ ผู้นำชุมชน ร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรรนิการ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของงานวิจัยว่า “การศึกษาวิจัยเรื่องมุกได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแกนหลักของงานวิจัยที่แท้จริงคือสามารถตอบโจทย์ของชุมชนได้ และสนับสนุนภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญ งานวิจัยมุกหรือไข่มุกจึงเป็นงานวิจัยหลักของคณะที่จะต้องทำเพื่อจังหวัดภูเก็ต

ซึ่งทางคณะวิจัยก็ได้ศึกษา มุกธรรมชาติ (natural pearl) ว่าเกิดจากวัตถุภายนอกพลัดตกลงไปในตัวหอยหอยจึงขับสารมุกโดยเซลล์บุผิวของเนื้อเยื่อแมนเทิล (mantle) ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการสร้างเปลือกหอยโดยดึงสารประกอบแคลเซียมจากน้ำมาสร้างเป็นชั้นเปลือกขึ้น ชั้นมุกประกอบด้วยผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนตที่เรียกว่า อะราโกไนท์ (aragonite) รวมกับเมือกและสารจำพวกคองคิโอลิน (conchiolin) แทรกอยู่ ทำให้ดูมีประกายสีรุ้งแวววาว มุกชนิดนี้หายากมากในธรรมชาติ มีรูปทรงแตกต่างกันเพราะไม่สามารถควบคุมรูปทรงได้ราคาแพง จึงทำให้มนุษย์คิดค้นมุกเลี้ยงขึ้นในเวลาต่อมา (culture pearl)

ซึ่งผลจากงานวิจัยเรื่องมุกก็ประสบความสำเร็จ โดยช่วยร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตมุกได้ จาก 18 เดือนที่เกษตรกรเคยทำมาเหลือเพียง 7-9 เดือนโดยที่ไม่ทำให้มุกเปลี่ยนรูปทรงและความหนาของมุกคงที่ ช่วยเพาะเลี้ยงหอยมุกเพื่อทดแทนหอยมุกจากธรรมชาติที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และยังช่วยพัฒนาสีของมุก ตำแหน่งการวางแกนมุก(nucleus) ชนิดของอาหารและระดับน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงหอยมุกอีกด้วย

และประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยทั้งหมดทำให้อุตสากรรมมุกในจังหวัดภูเก็ตพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากระดับจังหวัดถึงระดับนานาชาติจนได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มุกภูเก็ต (Geographical Indications หรือ GI) ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เน้นย้ำความสำคัญของงานวิจัยที่ช่วยดึงจุดเด่นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้งานวิจัยเรื่อง “ประมงที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการมีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุมชนและเอกชน โดยช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการฝึกสอนให้เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(นักศึกษาในโครงการประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่1) ได้ทำงานร่วมกับชุมชน และนักศึกษาในโครงการก็มีรายได้เป็นทุนการศึกษาจากการขายสาหร่ายด้วยเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่การวิจัยจากบริษัทภูเก็ตเพิร์ล อินดรัสทรี จำกัด

ด้าน นางสาวจุฑาพร เกษร นักวิจัยของคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ. เปิดเผยต่อด้วยว่า งานวิจัยต่อไป คือการต่อยอดในอนาคตที่จะนำความรู้กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พังงาและระนอง ซึ่งเป็นการเอางานวิจัยไปพัฒนาต่อยอด โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การส่งเสริมอาชีพ ซึ่งต้องศึกษาดูก่อนว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น และกิจกรรมต่อมาคือการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน ว่างานวิจัยของเราจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างไรบ้าง

พร้อมกับมีกิจกรรมที่สามที่จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชน ชูจุดเด่นของชุมชน ดูหมดรวมไปถึงการท่องเที่ยว และการเกษตรที่โดดเด่น หาเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นให้ได้ และกิจกรรมที่ 4 เราจะสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้แก่กันและกันในจังหวัดที่เราลงไปวิจัย (ภูเก็ต พังงา และ ระนอง) และเมื่อการวิจัยแล้วเสร็จทั้งหมด เราจะได้มีการจัดทำแหล่งรวบรวมข้อมูล อาจเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลพวกนี้เอาไว้ ให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สนใจ หน่วยงานหรือใครที่ต้องการ จะได้ไว้หาข้อมูลได้สะดวก