ม.อ.ภูเก็ตศึกษารสนิยมการดื่มกาแฟของคนใต้เพื่อเพิ่มมูลค่า


8 พ.ค. 2562

กาแฟจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการแปรรูปกาแฟ และผู้จำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟ จากความนิยมการดื่มกาแฟของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์กาแฟผงกึ่งสำเร็จรูป กาแฟคั่ว/บด กาแฟสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง การจำหน่ายในร้านกาแฟพรีเมียม หรือแม้แต่โอเลี้ยงและกาแฟโบราณที่ยังคงนิยมบริโภคของคนไทยทั่วไป

สำหรับการปลูกกาแฟในประเทศไทยนั้น มีทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในเขตพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ ส่วนกาแฟโรบัสต้าสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในเขตพื้นที่ทางภาคใต้เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความนิยมปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้การปลูกกาแฟโรบัสต้าบริเวณจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ลดลง แต่ยังคงพบเห็นสวนกาแฟโรบัสต้าได้ในบางจังหวัด เช่น ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ และระนอง เป็นต้น

ดร. ณิชา โตวรรณเกษม นักวิจัยจากคณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ทำการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟในภาคใต้ จากยุคโกปี๊เตี่ยมสู่อาหารเชิงศิลป์ ซึ่งเป็นการศึกษาวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรมของชาวใต้ผ่านการบริโภคกาแฟในชีวิตประจำวัน และกระแสสังคมที่รับเอาวัฒนธรรมกาแฟตะวันตกในรูปแบบทุนนิยมคาเฟ่ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาเมล็ดกาแฟไทยให้มีคุณภาพสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกและส่งผลถึงรูปแบบการบริโภคกาแฟที่เปลี่ยนไป โดยสังคมยุคโกปี๊เตี่ยมจะนิยมการดื่มเพื่อการปฎิสังสรรค์และการสร้างต้นทุนทางสังคม แต่ในปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีความรู้ด้านกาแฟและการบริโภคกาแฟในเชิงศิลป์ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม จึงมีการสำรวจความต้องการและรสนิยมของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์กาแฟไทยในระดับสากล

“กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก แม้เพียงได้กลิ่นหอมของกาแฟก็จะรู้สึกสดชื่นขึ้น คอกาแฟจะรับรู้ถึงความต่างของรสกาแฟแต่ละสายพันธุ์ เช่นบางชนิดจะมีรสช็อกโกแลต วนิลลา ผสมอยู่ และแต่ละคนจะมีความชอบต่างกัน ซึ่งผลจากการศึกษาดังกล่าวหากเสร็จสิ้นจะทำให้ทราบรสนิยมการดื่มกาแฟของคนไทยเพื่อการพัฒนากาแฟเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป” ดร. ณิชา โตวรรณเกษม กล่าว