แพทย์ ม.อ.เจ๋ง คว้ารางวัลระดับนานาชาติ จากผลงาน ชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์


20 มิ.ย. 2562

แพทย์ ม.อ.เจ๋ง คว้ารางวัล BRONZE MEDAL (เหรียญทองแดง) และรางวัล Special prize ระดับนานาชาติจากผลงานเรื่อง ชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive wireless endoscope)

ทีมวิจัย ผศ.ดร.สุรพงษ์ ชาติพันธุ์ ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับ รศ.ดร.พรชัยพฤกษ์ภัทรานนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งผลงาน ชุดอุปกรณ์ผ่าตัดกล้องส่องไร้สายแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive wireless endoscope) เข้าประกวดในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ “47th International Exhibition of Inventions of Geneva” ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสและได้รับรางวัล MEDALLE D’OR BRONZE MEDAL (เหรียญทองแดง) และรางวัล Special prize จากประเทศรัสเซีย

ผศ.นพ.สุนทร และผศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมว่าเกิดจากการพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์การรักษาเส้นประสาทมือชาโดยการผ่าตัด ที่เป็นเครื่องมือชิ้นใหญ่ ประกอบด้วยกล้อง ตัวเครื่องแหล่งกำเนิดแสง จอมอนิเตอร์ ต้องมีการติดตั้งใช้งาน ต่อด้วยสายระโยงระยาง ขยับหรือเข็นไปไหนไม่ได้ จึงเอาอุปกรณ์ที่จำเป็นมาย่อส่วนให้อยู่ในเครื่องเดียวกัน เป็นเครื่องผ่าตัดแบบพกพาเป็นระบบไร้สาย เพื่อการใช้งานที่สะดวกขึ้นในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัดใหญ่ เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ

“เป็นการใช้การผ่าตัดผสานเชื่อมต่อเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามา อุปกรณ์เป็นลักษณะ Hand Held จับด้วยมือ มีใบมีดผ่าตัดติดอยู่ที่ปลายตรงตัวปลอกที่สวมไปกับปลายของลำกล้องสำหรับส่อง และลำกล้องจะต่อกับตัวด้ามจับที่มีกล้องวิดีโอและอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายบรรจุอยู่ อุปกรณ์นี้จะสอดปลายด้ามที่มีใบมีดเข้าไปตรงข้อมือที่ต้องการผ่าตัดพังผืด โดยภาพที่ได้จะถูกส่งเป็นสัญญาณออกมาเชื่อมกับจอที่ใช้ดูเป็นไอแพดหรือคอมพิวเตอร์โดยใช้ระบบไร้สาย แพทย์ไม่ต้องคอยมองจอทีวี สามารถควบคุมผ่านอุปกรณ์เราได้เลย

เราใช้เวลาพัฒนามากว่า ๕ ปี โดยเริ่มจากได้อาจารย์จากประเทศมาเลเซียมาช่วยพัฒนาเรื่องตัวฮาร์ดแวร์ ประกอบด้วย กล้องส่องตรวจ และจอมอนิเตอร์ ต่อมาจึงดึงทีมวิศวกร รศ.ดร.พรชัย ที่เก่งทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยดูในเรื่องของรูปลักษณ์และติดต่ออดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัวมาช่วยดูแลตัวฮาร์ดแวร์ต่อ และพัฒนาตัวซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นโปรแกรม Smart Assistant สำหรับระบบที่ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้ถูกต้องตรงตำแหน่งที่ต้องการ หากปลายใบมีดผ่าตัดเข้าไปใกล้เนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทที่ไม่ใช่เป้าหมายในการผ่าตัดจะมีการแจ้งเตือนให้แพทย์รับทราบว่าผิดตำแหน่ง

นวัตกรรมตัวนี้จะใช้พิสูจน์ทฤษฎีผ่าตัดที่ข้อมือก่อน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสามารถเอาไปต่อยอดเพื่อการผ่าตัดอวัยวะส่วนอื่นได้ ตัวอุปกรณ์เองสามารถนำไปต่อกับกล้องเพื่อการผ่าตัดช่องท้องก็ได้ โดยเปลี่ยนใบมีดได้ตามการออกแบบส่วนโค้งว่าอยากได้มุมประมาณไหนที่อยากจะให้ตัดเข้าไปแล้วไม่ติดขัด ลื่นไหล ใช้สำหรับผ่าตัดไส้ติ่งก็ได้ นอกจากนี้ เรายังยื่นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไว้ เป็นการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มในอนาคตกับหมอทั่วโลกได้ ในขณะที่มีการผ่าตัดเกิดขึ้นที่ตรงนี้ แต่สามารถที่จะดึงเอาแพทย์จากที่ต่างๆ มาร่วมในการผ่าตัด ณ พื้นที่เดียวกัน”

ผศ.ดร.สุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า อันดับแรก คนที่เจอปัญหา มีไอเดีย แต่ลงมือทำเองไม่ได้ ไม่สามารถแก้ได้ ต้องหาทีมมาช่วย ทำให้ไอเดียจับต้องได้มากขึ้น เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน และพิสูจน์ว่ามันทำได้อย่างที่คิดหรือไม่ นอกจากมีไอเดียและมีทีมแล้ว ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ก้าวผ่านความผิดพลาดและความล้มเหลว

เช่นเดียวกับ ผศ.นพ.สุนทรที่ได้ให้ข้อคิดไว้ว่าทุกความสำเร็จ พิสูจน์ถึงกึ๋นของทีมว่า ทีมช่วยกันแก้ปัญหาในแต่ละจุด จุดนั้นบ้าง จุดนี้บ้าง มีความร่วมแรงร่วมใจกันขนาดไหน เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันขนาดไหน ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่อไป และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อย่าทำเพื่อทำนวัตกรรม แต่ควรต้องทำเพื่อแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราโฟกัสว่า เราต้องการช่วยคนอื่น หรือแก้ปัญหา นวัตกรรมจะมาเอง เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากล้าที่จะคิด เริ่มต้นทำและทำมันไปเรื่อยๆ มันก็ถึงจุดที่มีความสำเร็จในท้ายที่สุด