​ครูสตูลแห่ ฝึกออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน


13 ก.ค. 2562

ครูสตูลแห่ ฝึกออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ดึงครูในสังกัดฝึกออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
วานนี้ (12 ก.ค. 62) นายกอเฉ็ม หมีนเหม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ซึ่งเป็นวิชาใหม่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เริ่มใช้ในการเรียนการสอนเข้าปีที่ 2 แล้วและจะใช้ครอบคลุมครบทุกระดับชั้นในปีการศึกษา 2563
สำหรับการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ประกอบด้วย 3 องค์ความรู้หลัก ได้แก่
1.การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) คือ เข้าใจ เรียนรู้วิธีคิด และแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ มีลำดับวิธีคิด ซึ่งนอกจากการเรียนการเขียนโปรแกรมแล้วหัวใจที่สำคัญกว่า คือ สอนให้เราเชื่อมโยงปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาได้
2.การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม (Digital Technology) เทคนิควิธีการเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค 4.0 และเป็นทางเลือกในการบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นด้วย
และ 3.การรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล (Media and Information literacy) คือ แยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนเป็นจริง หรือหลอกลวง รู้กฎหมาย และลิขสิทธิ์ยุคแห่งโลกไซเบอร์ ที่สามารถใช้งานถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) เป็นทักษะวิธีการคิด และแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ ที่เป็นหัวใจสำคัญทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และวิธีคิดเชื่อมโยงปัญหาสู่การแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ได้ดำเนินการกิจกรรมนี้ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2562 ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยสตูล จังหวัดสตูล เพื่อให้ครูผู้เข้ารับการอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถออกแบบการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ผลการเรียนรู้ รวมทั้งจุดเน้นตามที่มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตลอดจนนำความรู้ไปพัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี

66388102_10214371334820764_5027696503473307648_n.jpg