สุดเจ๋ง ‘เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์’ มรภ.สงขลา คว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่น 3 ปีซ้อน


8 ส.ค. 2562

อาจารย์-นักศึกษาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มรภ.สงขลา โชว์ผลงานเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ แทคทีมคว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

ดร.วัชรินทร์ สายน้ำใส อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ รวม 5 คน คือ น.ส.สุนิสา หัวนา น.ส.มัณฑนา สงไข น.ส.ฟาตีฮะห์ แดวอสนุง น.ส.วาสนา หมัดล่าเตะ และ นายณัฐกานต์ หมันนาเกลือ เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 11 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ภายใต้แนวคิด “วิจัยสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสังคมไทย สู่ Disruptive Society” ในการนี้ ผลงานวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงการอ่อนตัวของความเค้นและพลังงานสูญหายของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์โดยใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับเขม่าดำเกรด N330 เป็นสารตัวเติม” จัดทำโดย สุนิสา หัวนา มัณฑนา สงไข สุไหลหมาน เบญฤทธิ์ และ วัชรินทร์ สายน้ำใส ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น (Best Paper Award) สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จากเวทีนี้

ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า ในการเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ นอกเหนือจากผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลแล้ว ยังมีงานวิจัยเรื่องอื่นๆ จากอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มรภ.สงขลา นำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแครงเป็นสารตัวเติมในยางธรรมชาติ โดย วาสนา หมัดล่าเตะ และ วัชรินทร์ สายน้ำใส ลักษณะการวัลคาไนซ์ สมบัติทางกายภาพ และการเสื่อมสภาพของยางธรรมชาติผสมแป้งพืชเป็นสารตัวเติม โดย ฟาตีฮะห์ แดวอสนุง นฤปนาถ พลเมือง วัชรินทร์ สายน้ำใส การศึกษาเปรียบเทียบการผ่อนคลายความเค้นของยางแผ่นรมควันและยางแท่งมาตรฐานไทยด้วยเครื่องทดสอบความหนืดมูนนี่ โดย ณัฐกานต์ หมันนาเกลือ ไรฮานา เจะเตะ และ วัชรินทร์ สายน้ำใส

สำหรับงานวิจัยเรื่อง การปรับปรุงการอ่อนตัวของความเค้นและพลังงานสูญหายของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์โดยใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับเขม่าดำเกรด N330 เป็นสารตัวเติม มีที่มาจากการเล็งเห็นว่ายางธรรมชาติผสมสารตัวเติมที่วัลคาไนซ์แล้ว เมื่อถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจะมีการอ่อนตัวของความเค้น หรือเกิดการแตกหักเสียหายได้ ปรากฏการณ์การอ่อนตัวของความเค้นนี้รู้จักกันทั่วไปในชื่อผลของมูลลินส์ (Mullins effect) นอกจากนี้ ยางซึ่งเป็นวัสดุประเภทหยุ่นหนืดจะเกิดการสูญเสียพลังงานจากแรงกระทำอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ แรงที่ใช้ในการผิดรูปจะมากกว่าแรงที่ใช้ในการคืนตัวกลับ โดยพลังงานที่สูญเสียไปนี้จะอยู่ในรูปของพลังงานความร้อนสะสม จึงศึกษาเพื่อปรับปรุงสมบัติการอ่อนตัวของความเค้นและพลังงานสูญหายของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์ โดยใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับเขม่าดำเกรด N330 เป็นสารตัวเติมในปริมาณ 40 phr โดยแปรสัดส่วนของแคลเซียมคาร์บอเนตกับเขม่าดำเกรด N330 เป็น 40/0, 30/10, 20/20, 10/30 และ 0/40 phr