มรภ.สงขลา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาตรฐานวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน


22 ส.ค. 2562

มรภ.สงขลา ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น จัดทำมาตรฐานวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ระดับปริญญาตรี ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตสู่นักวิชาการเปี่ยมองค์ความรู้ด้านสุขภาพ พร้อมสร้างมาตรฐานเดียวกันในสถาบันการศึกษาภาครัฐและเอกชน


ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาการสาธารณสุขชุมชน โดยคณะอนุกรรมการจัดทำร่างมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (มคอ.1) ภายใต้กรอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี) พ.ศ. 2562 จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มคอ.1 ที่ยกร่างขึ้นไว้แล้ว เป็นเวทีครั้งที่ 2 เวทีภาคใต้ ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา สำหรับเป็นแนวทางในการกำหนดโครงสร้างมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน โดยมี นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กรรมการสภาฯ อนุกรรมการฯ คณาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรทางด้านสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาคใต้ และตัวแทนผู้ใช้บัณฑิต เข้าร่วมประชุมราว 60 คน

ดร.วรพล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มีความแตกต่างกันมากของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาการสาธารณสุขชุมชนจะต้องกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดโครงสร้างมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาสาธารณสุขศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง (มคอ.1) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านสาธารณสุขศาสตร์ รวมทั้งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนด จากเหตุผลข้างต้น สภาการสาธารณสุขชุมชน และเครือข่ายสถาบันการศึกษาที่มีการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมมือกันจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ภายใต้กรอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า มาตรฐานวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านสาธารณสุขศาสตร์ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุข ต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน เน้นการใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสำรวจตรวจสอบ ตรวจประเมิน การฟื้นฟูสุขภาพ การบำบัดโรคเบื้องต้น การประเมินสถานการณ์จัดการความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่มีต่อสุขอนามัย บุคคล และชุมชน การบริหารจัดการแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ การนำผลการวิจัยพัฒนามาดำเนินการตามแผนปฏิบัติ การประสานแผนงานโครงการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดการระบบข้อมูลข่าวสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และเลือกลำดับความสำคัญของปัญหา ในการนำมาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบและองค์รวม การทำงานทุกกระบวนการคำนึงถึงหลักคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพสาธารณสุข