คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. ชูวิจัยชุมชน ผลักดัน “ควนเนียงโมเดล” สร้างชุมชนนวัตกรรม แก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ


26 พ.ย. 2562

คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. ชูวิจัยชุมชน ผลักดัน “ควนเนียงโมเดล” สร้างชุมชนนวัตกรรม แก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำผู้บริหารของคณะและนักวิจัยลงพื้นที่ปักหมุด อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาความต้องการของชุมชน และนำไปพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า ในปี 2563 คณะวิทยาการจัดการ มุ่งเป้าผลักดันโครงการวิจัย วจก. สู่ชุมชน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การวิจัยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาตามโจทย์สำคัญของการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม รวมทั้งตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งมีหนึ่งจุดเน้น คือ เน้นพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University Engagement)

โดยมหาวิทยาลัยต้องมีส่วนในการใช้องค์ความรู้ของการวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณการศาสตร์ในทุกสาขาวิชาในการทำวิจัย ทั้งนี้สอดคล้องกับการที่คณะวิทยาการจัดการมีศาสตร์การจัดการที่หลากหลายทั้งศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ การบัญชี และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ โดยเอาพื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งในการค้นหาโจทย์วิจัยและดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่

ผศ.ดร.กุลวดี ลิ่มอุสันโน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า การที่คณะวิทยาการจัดการ ปักหมุดพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่นำร่องในการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เนื่องจากในปี 2562 คณะวิทยาการจัดการได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินในการให้บริการวิชาการตามโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ในการนำนักศึกษาและอาจารย์ลงพื้นที่ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 2 กลุ่มในพื้นที่อำเภอควนเนียง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนลุงวรควนเนียง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงบ้านเกาะยวน ทำให้ทราบปัญหาเบื้องต้นในพื้นที่และต้องการต่อยอดเป็นการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้การขับเคลื่อนโครงการวิจัย วจก. สู่ชุมชน จะกำหนดแผนการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมแรกคือ การลงพื้นที่เพื่อศึกษาความต้องการและค้นหาโจทย์วิจัยจากชุมชน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาจากผู้นำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จากตำบลต่างๆ ในอำเภอควนเนียง จำนวน 30 คน โดยใช้พื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรควนเนียง จำกัด ในการจัดการประชุมกลุ่มแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้นักวิจัยได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสบริบทของพื้นที่ ได้ไปรับฟังปัญหาโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และจะได้นำปัญหาดังกล่าวไปกำหนดเป็นหัวข้อวิจัย เพื่อสืบเสาะแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งได้เป็นรูปแบบหรือโมเดลที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา และสุดท้ายคือ การนำไปทดลองปฏิบัติจริงเพื่อเป็นการพิสูจน์ยืนยันโมเดล

ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัยเพื่อร่วมสร้างและพัฒนาอำเภอควนเนียง ไปสู่ “ควนเนียงโมเดล” ที่พร้อมจะนำไปสู่การเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสงขลาต่อไป