​ม.หาดใหญ่ จัดแฟชั่นโชว์ผ้าทอกระแสสินธุ์ หวังช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน


20 ม.ค. 2563

ม.หาดใหญ่ เชิญชวนคนดังท่องถิ่นร่วมเดินแฟชั่นโชว์ โชว์ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม กลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ ภายใต้งาน “ณ กระแสสินธุ์ @ หาดใหญ่ KASAESIN IN HATYAI FASHION SHOW” นำงานวิจัยช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และสร้างการรู้จักเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย


(18 ม.ค.63) ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลามีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของกลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ภายใต้งาน “ณ กระแสสินธุ์ @ หาดใหญ่ KASAESIN IN HATYAI FASHION SHOW” โดยมีนางสุรียพรรณ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยอาจารย์ประณีต ดิษยะศริน ผู้ก่อตั้งและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผศ.ดร.วิทวัส ศิษยะศริน สัตยารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พลตํารวจโทสาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตํารวจท่องเที่ยว พร้อมด้วยอดีตนายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์จังหวัดสงขลา แขกผู้มีเกียรติ และผุ้สนใจร่วมงานมากมาย

ภายในงานมีกิจกรรมแฟชั่นโชว์ผ้าทอกระแสสินธุ์ ผลิตภัณฑ์จากกระแสสินธุ์ 4 ตำบล มาจัดแสดงและวางจำหน่าย มีการเสวนาเรื่องเล่ากระแสสินธุ์ ดินแดน เขา ป่า นา เล การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าทอและผ้ามัดย้อมกระแสสินธุ์ โดยแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผลงานการศึกษางานกลุ่มทอผ้ากระสินธุ์ ที่ดําเนินการแล้วเสร็จได้มีโอกาสเผยแพร่และขยายองค์ความรู้สู่การนําไปใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงให้คนทั่วไปได้รู้จักกระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความสวยงามทางธรรมชาติ ทีมผู้วิจัยคาดหวังว่าการยกระดับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ จากพืชในพื้นที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นจะสามารถเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่หันมาอนุรักษ์สืบสานงานทอผ้าและการพัฒนาผ้าทอกระแสสินธุ์ ต่อไปในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงฤดี อุทัยหอม กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยจากที่คณะผู้วิจัยได้ทําการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน และศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่ ณ กลุ่มทอผ้ากระสินธุ์ พบว่าผ้าทอกระแสสินธุ์เป็นศิลปหัตถกรรมงานทอที่มีเสน่ห์ ผ่านกระบวนการคิด สร้างสรรค์ สั่งสม บ่มเพาะพัฒนาการการทอจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งเป็นผ้าที่ได้รับอิทธิพลมาจากผ้าทอเกาะยอ มีลักษณะเส้นใยฝ้ายที่มีเนื้อแน่น งานทอผ้าของชุมชน เริ่มต้นจากผ้าทอ ขัดสานแบบเรียบง่าย ลวดลายไม่ซับซ้อน เช่น ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้ายก ดอก และมีลายอัตลักษณ์ของกลุ่มที่สวยงามโดดเด่น คืองานทอผ้าลายพวงชมพู และมีการตัดเย็บผ้าปาเต๊ะเป็นผลิตภัณฑ์สําเร็จรูป ผลิตภัณฑ์งานทอของกลุ่ม ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะต้องไปดําเนินการผลิตหรือตัดเย็บต่อ

จากการศึกษาผลิตภัณฑ์พบว่า การขยายสายผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปพร้อมใช้งานยังอยู่ในวงจํากัด และสมาชิกกลุ่มทอผ้าส่วนมากเป็นสมาชิกอาวุโส มีการรวมกลุ่มกันทอผ้าหลังจากเสร็จจากอาชีพหลักทาง การเกษตรในช่วงเช้า ดังนั้นคณะผู้วิจัยและผู้สนับสนุนโครงการภาคประชาชน จึงได้จัดให้มีกระบวนการถ่ายทอด เรียนรู้งานมัดย้อมจากพืชธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ เพกา ตาลโตนด ขนุน จําปาดะ และผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ออกแบบแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสําเร็จรูปต้นแบบ รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากสําหรับการท่องเที่ยวในชุมชนต่อไป ซึ่งทางกลุ่มทอผ้าสามารถดําเนินการผลิตได้ด้วยตนเอง อาทิ ชุดเดรสลําลอง กระเป๋า หมวก การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโครงการชุดนี้นําไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มทอผ้าและชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นหนึ่งในการสืบสานอนุรักษ์งานศิลปะหัตถกรรมงานทอในคาบสมุทรสทิงพระให้คงอยู่ต่อไป