เกษตรเขต 5 สืบสานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มุ่งแก้ปัญหาในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล


3 มี.ค. 2563

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร สืบสานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล


นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบสานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ และยังสามารถถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรสู่นักเรียนและชุมชน

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาตั้งแต่ปี 2523 ที่มีพระราชดำริให้ทดลอง โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว ภายหลังจากที่ได้ทดลองโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเป็นเวลา 1 ปี ได้ผลดีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศใน พ.ศ. 2524 เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย จึงเรียกชื่อใหม่ว่า โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง โดยอาศัยบริโภคอาหารที่ได้จากการเกษตรในโรงเรียน อีกทั้งมีความรู้ทางการเกษตรจากการเข้าร่วมทำการเกษตรและทรงหาแนวทางที่จะช่วยพัฒนาชุมชนโดยให้โรงเรียนเป็นส่วนนำในการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้จากเด็กนักเรียนไปยังชุมชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้เด็กนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารสำหรับนำไปบริโภค เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้พันธุ์พื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การเก็บเกี่ยวการแปรรูป และการถนอมอาหาร ฯลฯ

ทั้งนี้ใน ปี 2563 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จัหวัดสงขลา ได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 82 โรงเรียน ในพื้นที่ 13 จังหวัด (ยกเว้นภูเก็ต) ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา นอกจากทำให้เด็กนักเรียนมีอาหารบริโภคเพียงพอตลอดปีการศึกษาแล้ว นักเรียนยังได้รับความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตามแนวการผลิตสินค้าเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP : Good Agricultural Practice)

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน ในการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์บริการความรู้ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านการเกษตรจากโรงเรียนมาผลิตอาหารในครัวเรือน ส่งเสริมให้ครอบครัวของนักเรียนทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการถนอมและแปรรูปอาหาร ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริให้ขยายผลไปสู่ชุมชน

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ดำเนินงานโครงการโดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้ผ่านกระบวนการสหกรณ์โรงเรียน แล้วนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน การดำเนินงานของโครงการนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้ว ยังทำให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ต่อไป