ม.​อ.ใช้ประสบการณ์ 16 ปีจากโครงการบัณฑิตอาสา บริหารและติดตามการจ้างงานผู้รับผลกระทบโควิด


20 พ.ค. 2563

ม.สงขลานครินทร์ ใช้ประสบการณ์ 16 ปีจากโครงการบัณฑิตอาสา บริหารและติดตามการจ้างงานผู้รับผลกระทบโควิด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับสมัครโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขตเปิดรับ 400 อัตรา ในจังหวัดสงขลา ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พัทลุง ปัตตานีและยะลา ว่า มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญในความเข้มแข็งของท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานความมั่นคงของประเทศ จึงยินดีสนับสนุนค่าดำเนินการในการจัดสรรเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือนซึ่งกระทรวง อว. เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยเน้นย้ำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยกระทรวง อว. ได้ประกาศจะมีการจ้างงานตามโครงการระยะที่ 2 ซึ่งทำงานระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563

“และหากคนที่อาสาเข้าทำงานเป็นคนในชุมชนนั้นๆ อยู่แล้ว ใน 5 เดือน ชุมชนก็จะมี 5 ทหารเสือมาพัฒนาชุมชนของตนเอง ได้สมาชิกที่มีประสิทธิภาพในด้านการพัฒนาและการมีงานทำ เพราะเขาจะได้รับการฝึกอบรม ด้านการทำงานกับชุมชน เทคนิควิธีการสมัยใหม่ องค์กรท้องถิ่นและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ก็จะได้แนวร่วมในการทำงาน เป็นการส่งเสริมการพัฒนาระยะยาวด้วย“ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ในการรับสมัครที่ผ่านมา ผู้สมัครในพื้นที่ใกล้เคียงวิทยาเขตจะมีจำนวนมาก บางแห่งรับเพียง 5 คนแต่สมัครถึงเกือบ 200 คน แต่ผู้สมัครจะน้อยลงในพื้นที่ห่างไกลจากที่ตั้งมหาวิทยาลัย ผู้สมัครส่วนใหญ่เพิ่งสำเร็จการศึกษาแต่ผู้สมัครบางคนอายุ 60 ปีแต่มีความตั้งใจทำงาน ซึ่งได้ประกาศผลการคัดเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยประกาศรายชื่อสำรองไว้ และจะปฐมนิเทศออนไลน์ในวันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อให้ความรู้การทำงานเป็นทีม หลักการทำงานกับชุมชนในช่วง 5 เดือน

ลักษณะงานลงพื้นที่ทำงานเป็นทีม ๆ ละ 5 คน เข้าหาชุมชนเพื่อสอบถามความต้องการในการพัฒนา เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งหากทำได้ดีจะมีผลด้านเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยว ความต้องการชุมชน การพัฒนาเยาวชน การดูแลผู้สูงอายุ และร่วมปรึกษาหารือหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

โครงการดังกล่าวมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา มีผู้บริหารหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ และใช้สื่อสมัยใหม่ในการติดตามโดยมี ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการซึ่งเชี่ยวชาญการจัดการฐานข้อมูลของชุมชน มาช่วยจัดระบบในการติดตามการทำงานลงพื้นที่ 80 พื้นที่ของอาสาสมัครทั้ง 400 คน แบบ real time เป็นระบบที่ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ดูแลในการสื่อสาร ติดตามและรายงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เคยมีการจัดทำโครงการบัณฑิตอาสามาเป็นปีที่ 16 จึงมีประสบการณ์ในการทำงานประสานกับพื้นที่ต่างๆ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานอยู่แล้ว

ความก้าวหน้าของโครงการขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางพื้นที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและเวลาในการหาข้อมูล ว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริง ผู้ใดจะเป็นคนดำเนินการ ต้องใช้การคิดร่วมกันในการกำหนดแนวทางวิธีการ ทรัพยากร งบประมาณ เป็นการตอบสนองความต้องการของชุมชนที่มีประสิทธิภาพ แต่บางพื้นที่อาจมีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว สามารถจัดทำโครงการและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน