​สุดเจ๋ง 3 นศ. “ทัศนศิลป์” มรภ.สงขลา ได้รับคัดเลือกร่วมเเสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม


22 พ.ค. 2563

มรภ.สงขลา สุดปลื้ม 3 นักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ วิชาเอกจิตรกรรม-ภาพพิมพ์-ประติมากรรม ได้รับคัดเลือก ให้ร่วมเเสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ The Queen's Gallery


นักศึกษาหลักสูตรทัศนศิลป์ ชั้นปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2/2562 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ซึ่งประกอบด้วย นายเจ๊ะอารีฟ เจะมุ วิชาเอกจิตรกรรม จากผลงาน “แรงบันดาลใจจากลวดลายเรือกอและ” นางสาวนารีกานต์ เพ็ชรจำรัส วิชาเอกภาพพิมพ์ จากผลงาน “อัตลักษณ์พื้นถิ่นเบตง” และ นายจตุรงค์ ตันเองชวน วิชาเอกประติมากรรม จากผลงาน “ท่าทางบัลเลต์ในจินตนาการ” ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเเสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม-12 กรกฎาคม 2563 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ The Queen's Gallery กรุงเทพมหานคร โดยมีคณาจารย์ประจำหลักสูตรทัศนศิลป์ มรภ.สงขลา เป็นที่ปรึกษาและควบคุมดูแล ซึ่งนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยมในปีนี้ได้รับการตอบรับจากสถาบันการศึกษา 42 แห่ง คัดเลือกผลงานศิลปนิพนธ์หลากหลายเทคนิคเข้าร่วมแสดง แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 14 ชิ้น และระดับปริญญาตรี 142 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 156 ชิ้น

สำหรับผลงานจิตรกรรม “แรงบันดาลใจจากลวดลายเรือกอและ” ใช้เทคนิคสีน้ำมันกระป๋องบนพื้นไม้ต่างระดับ ขนาด : 100 x 175 เซนติเมตร สร้างสรรค์โดย นายเจ๊ะอารีฟ เจะมุ มีแนวความคิดในการสร้างสรรค์จากวิถีชีวิต ลวดลายบนเรือกอและ และสายน้ำ รวมถึงความพลิ้วไหว การแปรเปลี่ยนของลวดลายเมื่อเรือลอยลำอยู่บนพื้นน้ำ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปนิพนธ์ชุดนี้ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต ระบบความเชื่อ และศิลปะพื้นถิ่น ออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมบนพื้นไม้ต่างระดับระนาบมิติและพื้นที่ว่าง เพื่อสร้างมิติและการลวงตาระหว่างภาพแห่งความจริงและภาพสะท้อนวิถีชีวิตผ่านสายน้ำ ด้วยสื่อ (medium) ของนายช่างเรือกอและ สีน้ำมันกระป๋องที่ใช้สร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนตัวเรือ

ผลงานภาพพิมพ์ “อัตลักษณ์พื้นถิ่นเบตง” ใช้เทคนิคภาพพิมพ์สื่อผสม ขนาด : 200 x 150 เซนติเมตร สร้างสรรค์โดย นางสาวนารีกานต์ เพชรจำรัส นำเสนอถึงความรู้สึกและความทรงจำที่มีต่อขนบประเพณีและวัฒนธรรมของอำเภอเบตที่สืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งอดีต ความประทับใจในคุณค่าและความงามของวิถีชีวิต สถานที่ ลวดลายพื้นถิ่น และอัตลักษณ์ของเมืองเบตง ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ผู้สร้างสรรค์นำมาสรรค์สร้างเป็นเส้นสายลายเส้นมา เพื่อสื่อถึงขนบประเพณีวัฒนธรรมของเมืองเบตง ที่ถูกนำมาจัดวางและนำเสนอในรูปแบบภาพพิมพ์สื่อผสม 3 มิติตามแนวคิดของผู้สร้างสรรค์

ในส่วนของผลงานประติมากรรม “ท่าทางบัลเลต์ในจินตนาการ” ใช้เทคนิคเชื่อมโลหะ/ เรซิ่น ขนาด : 80 x 50 x 180 เซนติเมตร สร้างสรรค์โดย นายจตุรงค์ ตันเองชวน มีแนวคิดถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในการเคลื่อนไหวของความงามผ่านลักษณะท่าทางการเต้นรำของผู้หญิง ได้แก่ การเต้นบัลเล่ต์และสัมผัสรับรู้ได้ถึงจังหวะทิศทางการเคลื่อนไหวการหมุนตัว โดยใช้โครงสร้างของรูปทรงผ่านท่าทางลักษณะการเต้นรำที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานร่าเริงเพลิดเพลินในจินตนาการ