​สสส.,คณะแพทย์ ม.อ.ห่วงใยใกล้เปิดเทอม แนะนำ 3 ช.ช่วยบุตรหลานห่างไกลโควิด-19


24 มิ.ย. 2563

สสส. ร่วมกับ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ห่วงใยใกล้เปิดเทอม จัดเสวนา “เปิดโรงเรียนปลอดภัย เสริมพลังใจบุคลากรทางการแพทย์” ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 พร้อมแนะเทคนิค 3 ช.

(24 มิ.ย.63) ที่ห้องอติเรก ณ ถลาง อาคารเรียนรวม และหอสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดเสวนา “เปิดโรงเรียนปลอดภัย เสริมพลังใจบุคลากรทางการแพทย์” ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศการเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

โดยกำหนดให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วน รวมถึงผู้ปกครองยังคงมีความเป็นกังวลว่าโรคโควิด-19 นี้ อาจกลับมาแพร่ระบาดในสถานศึกษาอีกครั้ง ทางคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ สสส. เครือข่ายโรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุข ร่วมจัดเวทีเสวนา และมอบคู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19 แก่บุคลากรทางการแพทย์และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้


รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบุลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ประธานในพิธี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแพร่ระบาดจะลดลง แต่เมื่อใกล้เวลาการเปิดเทอมของแต่ละโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครองและหลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว การเตรียมความพร้อม รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรของโรงเรียน เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันโรค ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ โดยภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงความตั้งใจในการจัดเสวนา “เปิดโรงเรียนปลอดภัย เสริมพลังใจบุคลากรทางการแพทย์” ระหว่างบุคลากรทางการศึกษา และกุมารแพทย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงนโยบาย มาตรการ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากมาตรการ และการให้ความรู้แก่โรงเรียนต่างๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ทางคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อให้แก่บุคลากรของโรงแรม และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจวิธีการป้องกันตัวเองจาการติดเชื้อ แพร่เชื้อ รวมถึงการทำความสะอาดที่ถูกต้อง เพื่อให้มีความปลอดภัยในการรับนักท่องเที่ยว

ขณะที่ ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนเปิดโรงเรียนในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ โรงเรียนแต่ละโรงเรียนได้มีมาตรการที่ออกมาเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการป้องกันการติดเชื้อของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังมีความต้องการการช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ในทางปฏิบัติ สำหรับมาตรการที่ผู้ปกครอง และครูควรทำก่อนเปิดเรียน เช่น การคัดกรองเด็กป่วยของผู้ปกครองและครู ไม่ควรให้เด็กป่วยมาโรงเรียน การกำหนดให้นักเรียนใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากทางการแพทย์เมื่ออยู่ในโรงเรียน ส่งเสริมเรื่องการล้างมืออย่างถูกต้อง การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจใช้การเว้นห่างกัน หรือการปรับระบบเวลาเรียน

และยังได้แนะนำเทคนิคการรับมือเปิดโรงเรียนปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ด้วย 3 ช.คือ 3เชค เชควัดไข้อยู่สม่ำเสมอ เชควัคซีนบุตรหลานว่าฉีครบถวนหรือยัง เชคของใช้ส่วนตัวบุตรไปจากบ้าน 3ชวน ชวนกันล้างมือบ่อยๆ ชวนกันใส่หน้ากากอนามัย ชวนฝึกความเคยชินให้ไดใส่ข้อศอก ไม่แคะจมูก ขยี้ตา และ 3ชิน ชินกับการอยู่ห่างไม่สัมผัสเพื่อน ชินกับการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลต่างๆแทนการพบปะโดยตรง และชินกับการไปรับลูกตรงเวลา เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดเพื่อนๆ จากการเล่นหลังเลิกเรียน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างเสริมพลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่มีลูกหลานเล็กๆ ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ด้วยหนังสือภาพ “เรายังรักกันทุกวันจ้ะ” ซึ่งเป็นตัวแทนสื่อภาษารักในวันที่กอดกันไม่ได้ สร้างสายสัมพันธ์ทางใจ แม้กายจะห่างกัน ผลิตโดยโครงการภูมิคุ้มใจ ธนาคารจิตอาสา และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และหนังสือ “คู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19” โดยโครงการเด็กไทยแก้มใส และศูนย์การเรียนรู้ สสส. มอบแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดทาง Facebook คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้สนใจสามารถอ่าน และดาวน์โหลดหนังสือภาพได้ที่ www.happyreading.in.th