“ท่องเที่ยวชุมชน” อีกหนึ่งจุดขายที่ ม.สงขลานครินทร์ เร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนใต้


22 ก.ค. 2563

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มุ่งเน้นใช้ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัยเพื่อยกระดับการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอยู่แล้ว โดยหลายโครงการได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ซึ่งในภาคใต้ของประเทศอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวชุมชนที่เข้มแข็ง ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงธุรกิจที่เสริมการท่องเที่ยวเช่น ที่พัก แหล่งการค้า และแหล่งอาหารที่ขึ้นชื่อ


ในพื้นที่ซึ่งมีธรรมชาติงดงาม มีครบทุกสิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นเกาะภูเก็ต วิทยาเขตภูเก็ตได้เข้าร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนใน 7 เส้นทางในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งให้ความรู้ด้านการตลาด ทำแบรนด์ การเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม นำสิ่งที่เคยสร้างชื่อให้กับชุมชนภูเก็ตกลับคืนมา จนได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวอันดามัน และได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหาร ประจำปี 2558 จาก UNESCO นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อโควิด เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน และหาแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต

เช่นเดียวกับวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ที่ได้ร่วมศึกษาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมในการที่จะพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นเมือง MICE โดยทำการวิจัยการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในภาพของโครงข่ายที่เชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีการพัฒนาทักษะด้านภาษา อบรมมัคคุเทศก์ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อรองรับการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ที่จังหวัดตรัง นักศึกษาของวิทยาเขตตรังได้มีส่วนร่วมในการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมวางแผนและศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของชุมชน โดยโครงการเด่นคือ โครงการย่านตาขาวโมเดล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ไปริเริ่มพัฒนาเมืองให้รองรับนักท่องเที่ยวเพื่อสนองความต้องการของชุมชน โดยปัจจุบันมีโครงการในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก เช่น การทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ชุมชนมีความไว้วางใจ เป็นการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถเข้าไปจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน

ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง วิทยาเขตปัตตานีได้เข้าสร้างภาพลักษณ์ของใจกลางเมืองปัตตานีให้การท่องเที่ยวกลับมามีสีสัน โดยจัดทำโครงการ Pattani Heritage City หรือ วงแหวนวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เพื่อทำให้คำว่า ดินแดนพหุวัฒนธรรม เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นความหลากหลายของวัฒนธรรม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของชนต่างศาสนา ในพื้นที่ที่มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร นอกจากจะได้เห็นพื้นที่อาคารบ้านเรือนแล้ว ยังได้สัมผัสถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การอยู่ร่วมกันของผู้คน มีการจัดถนนคนเดิน พัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาของคนในพื้นที่เช่นผ้าทอจวนตานี กิจกรรมเดินทัวร์รอบเส้นทาง ทำให้ระยะเวลา2 ปีที่ผ่านมามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น

สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา วิทยาเขตหาดใหญ่ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปี 2543 ในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หรือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งชุมชนรอบลุ่มน้ำกว่า 8000 ตารางกิโลเมตร มีวิถีการทำนา ทำตาลโตนด ทำประมง โดยมีการสร้างความสมดุลย์ระหว่างนิเวศ-เศรษฐกิจ-ชุมชน มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคงความเป็นวิถีดั้งเดิมควบคู่ไปด้วย ให้ชุมชนดูแลรักษาพื้นที่ของตนเองโดยมีจัดฝึกอบรมชุมชนและบุคคลอาชีพที่เกี่ยวข้องให้จัดการท่องเที่ยวแบบมีมาตรฐาน มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสาระสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึง

แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในภาคใต้ ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะถูกมองว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็ยังมีการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างชาติที่มีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย เช่นการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพเสริมและเป็นยุทธศาสตร์ที่ให้ชุมชนดูแลรักษาพื้นที่ของตนเอง และชุมชนส่วนใหญ่มีความคาดหวังในบริบทของสถาบันการศึกษาเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการเป็นกำลังหลักในการพัฒนา และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมและช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง