บัณฑิตอาสา สงขลานครินทร์ จัดทำฐานข้อมูลช่วยเหลือตรงตามความต้องการของชุมชน


22 ก.ค. 2563

บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด โดยการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ให้ส่วนราชการและชุมชนมีข้อมูลชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือชาวบ้านตรงความต้องการที่แท้จริง


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด รุ่น1 และรุ่น 2 รุ่นละ 400 คนและบัณฑิตโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อีก 200 คน รวม 1,000 คน ใน 9 จังหวัดภาคใต้ รุ่นที่ 1 ปฎิบัติงาน ระหว่างเดือนมิถุนายน– กันยายน 2563 รุ่นที่ 2 ปฎิบัติงานระหว่างกรกฎาคม – กันยายน 2563 มีบัณฑิตจากหลากหลายสถาบัน และมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติงาน ให้เรียนรู้ระบบไอที และสร้างความรู้ความเข้าใจในการศึกษาชุมชนเบื้องต้น

แผนที่ทางภูมิศาสตร์ที่บัณฑิตอาสาจัดทำเป็นปัจจุบันทำให้สามารถมาวิเคราะห์ปัญหา ตรงความต้องการของชาวบ้าน ปัญหาถึงจะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนรวมทั้งนำไปเป็นฐานข้อมูลในระดับประเทศ และเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการเข้าไปให้บริการวิชาการตามความต้องการของพื้นที่ต่อไปในอนาคต

หลังจากการลงพื้นที่ จะมีการประชุมนำเสนอผลการเก็บข้อมูล ให้บัณฑิตอาสารายงานความก้าวหน้าของการทำงาน วางแผนการทำงานครั้งต่อไป ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ แลกเปลี่ยนและรับฟังข้อคิดเห็นกับนักพัฒนา เจ้าหน้าที่และทีมงานศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยงดูแลบัณฑิตอาสาอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นายอรรถชัย หีมชาตรี บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ปฎิบัติงานที่ ตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาของการลงพื้นที่การเรียนรู้ชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้เข้าถึงการพัฒนา ได้เรียนรู้ผลกระทบของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจิตใจหรือทางเศรษฐกิจ พบว่าชุมชนตรงนี้ ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นชุมชนเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติที่เด่นชัด

สำหรับปัญหาและอุปสรรค แรกๆพวกเราก็เกร็งนิดหน่อย เพราะเราไม่ใช่คนในพื้นที่ ตอนหลังได้เปิดใจกับชาวบ้านว่าเป็นจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการลงชุมชน มาช่วยชาวบ้าน ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

พืชเศรษฐกิจหลักที่นี่ คือ ต้นตาลโตนด และการแปรรูปจากตาลโตนด มีแหล่งท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพ เช่น เดอะฮัค ในฉาง ป่าขวาง มีเนื้อที่ 10 ไร่ ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนววิถีชีวิตพื้นบ้าน มีวิวทุ่งนา ใช้จุดเด่นคือความสวยงามจากต้นตาลโตนดในทุ่งนา มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เสริมด้วยหุ่นฟางผีเสื้อสมุทร หุ่นเดอะฮัค และอื่นๆนับเป็นสถานที่เช็คอินถ่ายรูปเซลฟี่ ที่น่าสนใจ

นายเชิดพงศ์ บุญที่สุด นักพัฒนาชุมชน อบต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลาตามที่บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาลงพื้นที่เป็นเวลา 4 เดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี สิ่งที่ตำบลรำแดง อ.

สิงหนครต้องการก็คือการจัดทำฐานข้อมูล เป็นฐานข้อมูลทางแผนที่ทางภูมิศาสตร์จากโปรแกรม GIS และแผนที่ทางเดินด้วยเท้า การทำงานทุกอย่างของท้องถิ่นถ้าเรามีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในตำบลรำแดงได้ ช่วงเช้าน้องๆก็ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ได้ข้อมูลของชุมชนไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กผู้สูงอายุที่เปราะบางทางสังคม รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เราก็เอาข้อมูลมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นมาพิจารณากลั่นกรองเพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยเหลือ ในตำบลรำแดงต่อไป

เมื่อเราได้แผนที่ ก็สามารถมาวิเคราะห์ปัญหา ตรงความต้องการของชาวบ้าน ไม่ยัดเยียดความช่วยเหลือ ปัญหาถึงจะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน จะเห็นว่าน้องๆบัณฑิตอาสาเมื่อลงพื้นที่ก็ได้รับของฝากจากชาวบ้านด้วยความเอ็นดู เหมือนลูกหลานมาเยี่ยม

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จัดทำโดย ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นอกจากจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อเป็นฐานข้อมูลของพื้นที่แล้วยังเป็นระบบติดตามการทำงานบัณฑิตอาสา และดูแลบัณฑิตอาสาได้อย่างใกล้ชิด

ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้พัฒนาระบบการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการเข้าไปให้บริการวิชาการตามความต้องการของพื้นที่ ในจังหวัดสงขลา ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ต่อไป