​คณะศิลปศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ TFT เปิดหลักสูตรอุตสาหกรรมการบิน ป้อนบัณฑิตคุณภาพสู่ตลาด


6 พ.ย. 2563

คณะศิลปศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ TFT เปิดหลักสูตรอุตสาหกรรมการบินป้อนบัณฑิตคุณภาพสู่ตลาด


6 พ.ย 2563 ณ ห้องประชุมรพีพรรณ สุวรรณณัฐโชติ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด (บริษัทในกำกับของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) เปิดตัวหลักสูตรใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Work-integrated Learning (WIL) และเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ทางด้านอุตสาหกรรมการบินและการบริการ ในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรที่ผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน (CAAT) และ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด (บริษัทในกำกับของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) เมื่อสำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น จำนวน 8 ใบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กานดา จันทร์แย้ม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทคณะฯในการตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมการบินและการบริการว่าคณะมีความมุ่งมั่นในการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และได้ร่วมกับ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัดฯ ในฐานะพันธมิตรทางการศึกษาในการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ คนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ี่เน้นปฎิบัติจริงที่ศูนย์ปฎิบัติการทางการบิน ณ สถานประกอบการที่ทันสมัย เป็นแห่งเดียวในภาคใต้ ตอบโจทย์ภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมอนาคต อีกทั้งยังมีแผนเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตร สำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อรองรับการทำงานในอุตสาหกรรมการบินและการบริการอีกด้วยในอนาคต

กัปตัน ดร.ธนะพัฒน์ ศิริจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บจก.ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด กล่าวว่า โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมและถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานในยุคปัจจุบัน ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานในการให้บริการมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.4 ของ GDP ทั่วโลก จากข้อมูลปีที่แล้ว มีผู้โดยสารเดินทาง 4.5 พันล้านคน จำนวน 100,000 เที่ยวบินต่อวัน ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา covid-19 เริ่มขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเริ่มลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและจนถึงขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน และความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งส่งผลทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินเปลี่ยนโฉมหน้าในอนาคตอันใกล้

อุตสาหกรรมการบินและสายการบินจะเป็นอย่างไรหลัง COVID-19 ?

1. การควบรวมกิจการสายการบินจะมีมากขึ้น (Massive consolidation)

2. ความต้องการการเดินทางที่มีแนวโน้มที่ลดลง (Low demand)

3. การดูแลความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของผู้โดยสารจะมีมากขึ้น (Enhanced security measures)

4. การเพิ่มความสำคัญของท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลาง (Strengthening the role of airport hubs)

5. การขยายตัวของรายได้จากบริการรูปแบบใหม่ๆ (New fee-based services)

6. การหมดยุคของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ (The end of giant planes)

7. การหมดยุคของที่นั่งชั้นหนึ่ง (The end of 1st class)

จากข้อมูลของ Cirium Consulting ระบุว่าขณะนี้ ประมาณร้อยละ 64 จากจำนวนเครื่องบิน 26,000 ลำทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้งาน เครื่องบินต้องทำการ Long Term Parking เมื่อไม่มีการใช้งาน เพื่อให้เครื่องบินบินขึ้นได้ตลอดเวลา เครื่องยนต์ของเครื่องบินจะต้องได้รับการ "active parking" ทุกๆ สิบวันหลังจากนี้ ผ้าคลุมจะถูก ถอดออกอีกครั้งเพื่อให้เครื่องยนต์และระบบไฮดรอลิกส์ได้ทำงาน ประเมินว่าค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 30,000 เหรียญต่อลำ เช่นเดียวกันกับพนักงานในอุตสากรรมการบินที่ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและเป็นรายจ่าย จำนวนมหาศาลถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน อันส่งผลอย่างรุนแรงทางลบต่อรายได้ ผลกำไร และสถานะการเงิน ของสายการบินต่างๆ เนื่องจากธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงที่ผ่านมา ทำให้มีกำไร หรือ “Margin” ต่ำ

มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจการบินจะมีการปรับตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตามการมีสายการบินยังคง มีความจำเป็นต่อการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ แต่ก็จะต้องมีการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นการลดรายจ่ายอันดับแรกที่ทุกสายการบินจะต้องนำมาพิจารณา โดยให้มีการฝึกอบรมผ่าน Approve Training Organization ซึ่งถือเป็นการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของ ICAO ดังนั้น นักศึกษาที่ได้รับการเรียนการสอนผ่าน Approved Training Organization จึงมีมาตรฐานระดับนานาชาติ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้กับอุตสาหกรรมการบินได้เป็นอย่างดี