​"พณิชยการหาดใหญ่" ย้ำคุณภาพการศึกษากับรางวัลพระราชทาน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี


4 ธ.ค. 2563

รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน รางวัลแห่งเกียรติยศ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ จัดพิธีอัญเชิญโล่รางวัลฯ อย่างยิ่งใหญ่พร้อมมีทุกภาคส่วนร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง

(3 ธ.ค.63) วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดพิธีอัญเชิญโล่รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2562 โดยเมื่อวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานรางวัล “โล่และเกียรติบัตรสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2562” โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.โสภณ สาระวิโรจน์ ผู้รับใบอนุญาต พร้อมด้วยนางสาวจิตจัณ สาระวิโรจน์ ผู้จัดการ เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับโล่และเกียรติบัตรรางวัล “สถานศึกษาพระราชทาน” ประจำปีการศึกษา 2562 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นเกียรติอันสูงสุดแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ อย่างหาที่สุดมิได้

และในวันนี้ (3 ธ.ค.63) วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดพิธีอัญเชิญโล่รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2562 โดยมีขบวนมาจากสนามบินนานานชาติหาดใหญ่มาถึงวิทยาลัยฯ นำโดย ดร.โสภณ สาระวิโรจน์ ผู้รับใบอนุญาต พร้อมด้วย อ.จิตจัณ สาระวิโรจน์ ผู้จัดการ และ อ.ศิรีพร สาระวิโรจน์ ประธานที่ปรึกษาฯ เปิดกรวยและอ่านคำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ท่ามกลางการร่วมพิธีและแสดงความจากส่วนราชการ เอกชน สถานศึกษา รวมถึงนักเรียน นักศึกษาของสถาบันที่เข้าร่วในพิธีเป็นจำนวนมาก และนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวแสดงความยินดี มีบุคคลสำคัญต่างๆ อาทิ นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ฯลฯ

---------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม "รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน รางวัลแห่งเกียรติยศ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่"

สถานศึกษารางวัลพระราชทาน เป็นรางวัลที่พระราชทานให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรางวัลนี้เป็นโครงการหนึ่งที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อเยาวชนไทยในการที่จะเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่นักเรียน และสถานศึกษาให้เกิดความมุมานะ และพากเพียร ประกอบกรรมดีโดยสม่ำเสมอ โดยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรางวัลให้แก่นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาที่ประกอบกรรมดีเหล่านั้น พระราชดำริที่จะพระราชทานรางวัลให้แก่นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษานี้เกิดขึ้น เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ประจำปีการศึกษา ๒๕๐๖ และพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจัดการศึกษาดีเด่น ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๖

โดยมีพระราชปรารภกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนั้น ใจความว่า “มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งมีความประพฤติดี และมีความมานะ พยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งมีโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี จนนักเรียนสอบได้ผลดีมากเป็นส่วนรวม นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัล” กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำพระราชปรารภมาพิจารณา และดำเนินการ โดยได้มอบหมายให้กรมวิชาการร่วมกันกับกรมต้นสังกัดของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการคัดเลือกนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษา เพื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ก่อให้เกิดผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อคุณภาพการศึกษา

วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ (เดิม โรงเรียนพณิชยการหาดใหญ่) เปิดทำการสอน เมื่อปีการศึกษา ๒๕๒๒ โดยมีนายไพศาล มั่นใจ เป็นผู้จัดการ นางสาวจินตนา บัวโชติ เป็นครูใหญ่ เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหลักสูตรกรมอาชีวศึกษา สาขาพณิชยกรรม แผนกการบัญชี และการขาย รับนักเรียนได้ ไม่เกิน ๒๒๕ คน ต่อมานายไพศาล มั่นใจ ได้ขายกิจการให้แก่บริษัทพณิชยการหาดใหญ่ โดยคุณลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ เป็นประธานหุ้นส่วน

และต่อมาได้ขายกิจการให้นายลั่น สาระวิโรจน์ ในปีการศึกษา ๒๕๒๗ ปีการศึกษา ๒๕๓๘ วิทยาลัยฯ มีการปรับปรุงและพัฒนาสำนักงาน เพิ่มอาคารเรียน ห้องเรียนต่างๆ มากมาย ในปีการศึกษานี้มีนักเรียนทั้งหมด ๓,๓๖๙ คน มีครู/อาจารย์ ๑๑๘ คน วิทยาลัยมีการส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชามากขึ้น ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษามีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพ และศึกษาต่อได้มากขึ้น อย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

ปีการศึกษา ๒๕๓๙ วิทยาลัยฯ ได้รับรางวัล “สถานศึกษารางวัลพระราชทาน” จากกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๑ จากการบริหารจัดการศึกษาที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วิทยาลัย ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ในปีการศึกษา ๒๕๔๖, ๒๕๕๓, ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๒ ตามลำดับ

เมื่อวันอังคาร ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานรางวัล “โล่และเกียรติบัตรสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒” โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.โสภณ สาระวิโรจน์ ผู้รับใบอนุญาต พร้อมด้วยนางสาวจิตจัณ สาระวิโรจน์ ผู้จัดการ เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับโล่และเกียรติบัตรรางวัล “สถานศึกษาพระราชทาน” ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นเกียรติอันสูงสุดแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ อย่างหาที่สุดมิได้

การที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ ได้รับโล่รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน จะต้องมีการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ จนได้รางวัลพระราชทาน ๓ ครั้ง ภายใน ๑๐ ปี คือ ปีการศึกษา ๒๕๕๓, ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการยากยิ่งที่สถานศึกษาแห่งใดจะทำได้ แสดงให้เห็นว่าวิทยาลัยฯ ได้จัดการศึกษาอย่างดีเยี่ยม มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือ ร่วมใจ ของคณะผู้บริหาร ครู-อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา คณะกรรมการบริหารฯ กรรมการภาคี ๔ ฝ่าย ตลอดถึงชุมชน ท้องถิ่น สถานประกอบการ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ ได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ครั้งที่ ๕ นับเป็นเกียรติสูงสุดแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่

กว่าที่จะได้รับโล่รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน เป็นการบริหารจัดการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และต้องผ่านการประเมินของคณะกรรมการ ที่มีคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ความรู้ ความสามารถ อย่างหลากหลาย ตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา อาชีวศึกษา และสถานศึกษาวิชาชีพ ได้กำหนดคุณสมบัติของสถานศึกษาที่มีสิทธิ์เข้ารับรางวัลพระราชทานไว้ ๖ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ คุณภาพนักศึกษา

๑.๑ นักศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์

๑.๒ นักศึกษามีความรู้ ความสามารถ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็น

๑.๓ นักศึกษามีสุขภาพแข็งแรง บุคลิกภาพดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรี กีฬา และศิลปะ

ด้านที่ ๒ การบริหารหลักสูตร และงานวิชาการ

๒.๑ การพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา

๒.๒ การพัฒนาการเรียนการสอน

๒.๓ การพัฒนาระบบการวัด และการประเมินผลการเรียน

๒.๔ การพัฒนากิจการนักศึกษา

๒.๕ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้

๒.๖ การค้นคว้าวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการศึกษา

ด้านที่ ๓ การบริหารจัดการ

๓.๑ การพัฒนาระบบข้อมูล และสารสนเทศ

๓.๒ การพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา

๓.๓ การบริหารงบประมาณ และการบริการ

๓.๔ การบริหารงานอาคารสถานที่

๓.๕ การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน

ด้านที่ ๔ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน

๔.๑ การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการศึกษา

๔.๒ ความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษา และชุมชน

ด้านที่ ๕ บุคลากร และการบริหารงานบุคลากร

๕.๑ คุณลักษณะของผู้บริหาร

๕.๒ คุณลักษณะของครู

๕.๓ คุณลักษณะของบุคลากรฝ่ายสนับสนุน

๕.๔ การบริหารงาน และการพัฒนาบุคลากร

ด้านที่ ๖ ความดีเด่นของสถานศึกษา

๖.๑ ผลงานทางวิชาการ หรือวิชาชีพของครู และนักศึกษา

๖.๒ ความพึงพอใจของนักศึกษา และผู้ใช้บริการ

ซึ่งสถานศึกษาใดที่มีสิทธิ์รับรางวัลพระราชทาน จะต้องผ่านเกณฑ์ ดังนี้

๑. ได้ค่าเฉลี่ยของคะแนนการจัดการศึกษาตามรายการในแบบประเมินสถานศึกษาแต่ละด้านไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ จากคะแนนเต็ม ๔.๐๐

๒. ได้ค่าเฉลี่ยของคะแนนรวมการจัดการศึกษาทุกด้านตามรายการในแบบประเมินสถานศึกษาไม่ต่ำกว่า ๓.๕๐ จากคะแนนเต็ม ๔.๐๐

๓. ได้ค่าเฉลี่ยของคะแนนรวมการจัดการศึกษาทุกด้านสูงสุด ส่งผลให้ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ ได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทานเป็นครั้งที่ ๕ และได้รับโล่รางวัลสถานศึกษาพระราชทานอีกหนึ่งรางวัล ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุด และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชาววิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ ทุกคน

“ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการหาดใหญ่ เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนแห่งแรกของภาคใต้ ที่ได้รับการนำร่องการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสี่ จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) จำนวน ๒ ด้าน ๓ องค์ประกอบ ๙ ประเด็นพิจารณา โดยมีผลการประเมินระดับดีเยี่ยม จำนวน ๖ ประเด็นและระดับดีมาก จำนวน ๓ ประเด็น คิดเป็นร้อยละ ๙๓.๓๓ ”