มทร.ศรีวิชัย ไสใหญ่ สร้างเครื่องอัดก้อนข้าวรสต้มยำกุ้ง เวอร์ชั่น 3


13 ม.ค. 2564

มทร.ศรีวิชัย ไสใหญ่ สร้างเครื่องอัดก้อนข้าวรสต้มยำกุ้ง เวอร์ชั่น 3

อัดขึ้นรูปก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งเพื่อผลิตเป็นข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง

ผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบรสต้มยำกุ้งเป็นสินค้า OTOP ของกลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ ซึ่งมีส่วนผสม หลักคือ ข้าวหุงสุกนำไปอบหรือตากแห้ง แล้วผ่านกระบวนการทอด เรียกว่า “ข้าวพอง” นำข้าวพองคลุกเคล้ากับส่วนผสมปรุงรสต้มยำกุ้งจนเข้ากัน หลังจากนั้นนำมาอัดขึ้นรูปเป็นก้อนโดยนำข้าวพองที่ผสมเครื่องปรุงรสแล้วใส่เบ้าพิมพ์แล้วออกแรงกดให้ได้ขนาด น้ำหนัก และความหนาของแต่ละชิ้นที่เท่ากัน แกะออกจากเบ้า นำไปผ่านกระบวนการอบแห้งเพื่อไล่ความชื้น เพิ่มความกรอบ และยืดอายุของผลิตภัณฑ์ โดยรสชาติคงเดิม ก่อนแพคใส่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มสามารถอัดขึ้นรูปเป็นก้อนได้เพียงครั้งละ 1 ชิ้น โดยใช้แรงงานคน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาด้านแรงงานและเพิ่มกำลังการผลิตที่ไม่ทันต่อออเดอร์ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอเท่ากันทุกชิ้น อ.ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์ประจำสาขาเกษตรประยุกต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ จึงได้คิดสร้างนวัตกรรมเครื่องอัดก้อนข้าวรสต้มยำกุ้ง เวอร์ชั่น 3 สำหรับการอัดขึ้นรูปก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งเพื่อผลิตเป็นข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง โดยเครื่องนี้เป็นการพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานให้สมบูรณ์ตรงกับความต้องการใช้งานของชุมชนมากยิ่งขึ้น สำหรับเครื่องอัดก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งนี้มีหลักการทำงานโดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 ชุดป้อนวัตถุดิบใช้มอเตอร์ซึ่งควบคุมความเร็วรอบด้วยอินเวอร์เตอร์ มอเตอร์ต้นกำลังจะถูก เชื่อมต่อเข้ากับเพลาเกลียวลำเลียงเพื่อลำเลียงข้าวรสต้มยำกุ้งที่ถูกบรรจุไว้ในถังไปยังแผ่นจานวงกลมซึ่งเจาะ เป็นช่องเป็นรูปวงรี (Slot) คล้ายกับซูชิ สำหรับบรรจุข้าวรสต้มยำกุ้งเพื่อขึ้นรูปเป็นก้อน โดยที่แผ่นจานวงกลม จะมีมอเตอร์อีกตัวเป็นต้นกำลังควบคุมด้วยเซนเซอร์ตรวจจับตำแหน่ง (Proximity Sensor) เพื่อสั่งงานให้ มอเตอร์หมุนขับและหยุดการทำงานของแผ่นจานวงกลมให้ตรงตามตำแหน่งที่จะทำการป้อนข้าวรสต้มยำกุ้ง การอัดขึ้นรูป และการดันข้าวรสต้มยำกุ้งออกจากช่องบรรจุลงสู่ถาดรองรับ ชุดที่ 2 ชุดอัดข้าวรสต้มยำกุ้งเพื่อขึ้นรูปให้เป็นก้อนโดยใช้ต้นกำลังจากกระบอกสูบนิวแมติกส์ตัวที่ 1 ที่ควบคุมการทำงานด้วยเซนเซอร์ตัวจับตำแหน่ง และวาล์วควบคุมทิศทางลม ชุดที่ 3 ชุดส่งและดันก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งออกจากช่องอัดข้าวรสต้มยำกุ้ง ใช้ต้นกำลังจากกระบอกสูบ นิวแมติกส์ตัวที่ 2 ที่ควบคุมการทำงานด้วยเซนเซอร์ตัวจับตำแหน่ง และวาล์วควบคุมทิศทางลม โดยที่มอเตอร์ต้นกำลังจะหมุนแผ่นจานวงกลมเพื่อส่งข้าวรสต้มยำกุ้งที่ผ่านการอัดขึ้นรูปเป็นก้อนแล้วไปตรงตำแหน่งที่เป็นช่อง กระบอกสูบนิวแมติกส์จะดันก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งลงสู่ถาดรองรับต่อไป โดยประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องอัดก้อนข้าวรสต้มยำกุ้งสามารถผลิตได้ 600 ชิ้น ต่อ ชั่วโมง ซึ่ง เพียงพอต่อการผลิตตามออร์เดอร์ของตลาด เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ทั้งนี้นวัตกรรมนี้อยู่ภายใต้โครงการพัฒนา ต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชนของสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สนใจติดต่อข้อมูลได้ที่ อ.ดร.เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์ อาจารย์ประจำสาขาเกษตรประยุกต์ คณะเกษตรศาตร์ มทร.ศรีวิชัย อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เบอร์โทรศัพท์ 087-746-2379