​มรภ.สงขลา เดินหน้าปั้นหลักสูตรใหม่ “ประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม”ทันสมัยสอดรับความสนใจคนรุ่นใหม่


13 ม.ค. 2564

มรภ.สงขลา เดินหน้าปั้นหลักสูตรใหม่ สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ชูจุดเด่นทันสมัย สอดรับพฤติกรรมและความสนใจคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

ผศ.วสิน ทับวงษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า จากเป้าหมายการนำพาประเทศเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” รูปแบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตปริมาณมากและใช้แรงงานราคาถูก ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่พึ่งพาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในปัจจุบัน มี 3 กระทรวง ที่มีนโยบายเกี่ยวเนื่องกับการนำประวัติศาสตร์มาใช้ขับเคลื่อนงานในภาคส่วนต่าง ๆ คือ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 2. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 3. กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย” ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 มอบนโยบายเกี่ยวกับทิศทางอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้น มาตรวัดความสำเร็จที่แท้จริงจึงเป็นการทำงานแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่น และอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถของคณาจารย์และนักวิจัยให้มาก ดึงจุดแข็งจากการทำงานลงพื้นที่ใกล้ชิดกับชุมชน เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งเปิดโอกาสให้อาจารย์ราชภัฏได้มีบทบาทในการทำงานเพื่อท้องถิ่นมากขึ้น เพราะจุดเด่นด้านความเข้าใจพื้นที่และความลุ่มลึกในประวัติศาสตร์ของชุมชนของเมือง เป็นปัจจัยในการเข้าถึงปัญหา มองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข สามารถบูรณาการทรัพยากร ระดมผู้รู้และองค์ความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่น ให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

จากทิศทางที่ปรากฏสอดรับกับการดำเนินงานของคณะทำงานพัฒนาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม (หลักสูตรใหม่ พุทธศักราช 2564) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มรภ.สงขลา โดยตนและคณะทำงานฯ กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อมุ่งหมายให้เป็นหลักสูตรที่เน้น Hybrid Skill เชื่อมโยงสิ่งใหม่ผสานเข้ากับทักษะประวัติศาสตร์ที่เป็นฐานเพื่อเพิ่มคุณค่า บูรณาการองค์ความรู้ ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญใหม่ ดังนั้น บัณฑิตที่หลักสูตรฯ ผลิตจะมีทักษะที่ผสมผสานแบ่งออกเป็น Hybrid Technical ซึ่งมีทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์ (Historical Data) และสามารถใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Computer Science & I.T.) และ Hybrid Creative & Power Skills ที่จะประยุกต์องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไปสู่การสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อการสื่อสารกับสังคมในมิติ/แพลทฟอร์มต่างๆ ก่อให้เกิดหลักสูตรความรู้แบบบูรณาการที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ-สังคมไทยและนานาชาติ

การพัฒนาหลักสูตรฯ อาศัยศักยภาพของบุคลากรในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีความร่วมมือทางวิชาการกับสาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เน้นการบูรณาการศาสตร์ระหว่างประวัติศาสตร์กับศาสตร์อื่นที่จำเป็น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการออกแบบ คอมพิวเตอร์ ดิจิทัลกราฟฟิก ที่จำเป็น สำหรับสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ตลาดแรงงาน ยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา และยุทธศาสตร์ชาติ

อาจารย์กัลย์วดี เรืองเดช หนึ่งในคณะทำงานฯ ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ยังตอบสนองยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ดังที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นิยามว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลงคนให้เป็นนักปฏิบัติมีศักยภาพสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โอกาสของบัณฑิตที่สามารถเป็นผู้ประกอบการหรืออาชีพอิสระ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานในองค์กรรัฐและเอกชน เป็นหลักสูตรที่มีโครงการความร่วมมือ ซึ่งสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ (MOU) และ บันทึกข้อตกลงเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการฯ (MOA)

หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดำเนินงานตามความต้องการของพื้นที่และผู้ใช้ประโยชน์ผ่านพันธกิจหลักและข้อตกลงความร่วมมือถึง 2 ฉบับ คือ 1. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (เพื่อการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 2. บันทึกข้อตกลงเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามวันที่ 15 กันยายน 2563 สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม จึงมุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งงานที่อยู่ภายใต้สังกัด ภาครัฐ เอกชน และประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ โดยมีต้นทุนจากทักษะความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารสังคม ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทาง/แพลตฟอร์มการสื่อสารร่วมสมัยหลากหลาย เพื่อบูรณาการศาสตร์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ตลาดแรงงาน ยุทธศาสตร์จังหวัด ไปจนถึงยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ และตระหนักถึงความสอดคล้องกับทักษะพื้นฐานตลอดจนความสนใจของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน

ในระหว่างศึกษา นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และกรณีศึกษาเพื่อการสื่อสารสังคมเชิงพื้นที่ จากวงเล็กที่เปรียบเสมือนไข่แดงหรือจุดกึ่งกลางของเป้าลูกดอก คือ เมืองเก่าสงขลา ที่สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้สะดวก มีโอกาสจากภาคีความร่วมมือทางวิชาการและเป็นพื้นที่สำคัญสร้างสรรค์งานวิชาการที่บูรณาการเพื่อรับใช้สังคมซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ฯ จังหวัด ขณะที่เชื่อมโยงแล้วขยายวงออกไปสู่พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคใต้ และภูมิภาคอื่นของประเทศ รวมทั้งบริบทในต่างประเทศ บัณฑิตของหลักสูตรจะมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย รอบรู้และรู้รอบ พร้อมก้าวสู่การทำงานในหลายมิติ

อนึ่ง หนึ่งในยุทธศาสตร์ของจังหวัดสงขลาที่ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก (จากการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563) ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรของหลักสูตรฯ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิชาการและรับการสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว อันถือเป็นบทบาทของ มรภ.สงขลา ที่เน้นการรับใช้พื้นที่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงผลงานวิชาการเหล่านั้นจะเป็นพลวปัจจัย (ปัจจัยอันมีกำลัง) เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น

อีกทั้งผลงานของนักศึกษาในหลักสูตรจะเป็นพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ (MOU) และบันทึกข้อตกลงเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการฯ (MOA) จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินงานหลักสูตรโดยอาศัยความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในด้านต่างๆ ตามพันธกิจหรือกรอบความรับผิดชอบของแต่ละองค์กร