​มทร.ศรีวิชัย ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อชุมชน ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


20 ม.ค. 2564

มทร.ศรีวิชัย ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อชุมชน

ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กระบวนการสำคัญที่จำเป็นต้องพัฒนาการเกษตรโดยเน้นที่ปัจจัยการผลิต คือ การปรับปรุงบำรุงดิน และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เองแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ปุ๋ยชีวภาพในชุมชนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปุ๋ยชีวภาพคือการการที่นำเอาจุลินทรีย์ มาใช้ปรับปรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ ทางชีวเคมี และการย่อยอินทรียวัตถุจากพืช จากอินทรีย์ หรือจากอนินทรียวัตถุ

ผศ.สมบูรณ์ ประสงค์จันทร์หลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย จึงได้ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อนำไปให้ชุมชนพร้อมทั้งแนะนำวิธีการผลิตที่สามารถนำไปใช้กับชุมชนได้จริง

ผศ.สมบูรณ์ ประสงค์จันทร์ กล่าวถึงข้อดีของปุ๋ยชีวภาพ ที่สามารถเพิ่มปริมาณธาตุฟอสฟอรัส กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยดูดซับธาตุฟอสฟอรัสให้กับพืช จุลินทรีย์กลุ่มนี้ ได้แก่ ไมโคไรซา เป็นจุลินทรีย์ที่พบได้ในพืชไร่ พืชสวน พืชผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ ส่วนไม้ยืนต้นพบได้ในไม้ป่า และประเภทไม้สน กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายหินฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ปุ๋ยชีวภาพที่เพิ่มปริมาณโพแทสเซียม การเสริมธาตุโพแทสเซียมมี 3 วิธีคือ การสลายทางกายภาพ การสลายตัวทางเคมี และการสลายตัวทางอินทรีย์ ซึ่งการสลายตัวทางอินทรีย์จะมีผลเร็วและประหยัดที่สุด ซึ่งจะใช้จุลินทรีย์ ที่ทำให้พืชไร่และพืชสวนมีคุณภาพผลผลิตดีและมีจุลินทรีย์ที่ให้ธาตุรองและธาตุเสริม

สำหรับขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก เตรียมวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ในชุมชน เช่น ก้อนเห็ด และทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ปริมาณ 700 กิโลกรัม มูลสัตว์ เช่น มูลโค ปริมาณ 200 กิโลกรัม และผักตบชวา หรือ ต้นกล้วย หรือใบก้ามปู ปริมาณ 100 กิโลกรัม นำมาคลุกเคล้าวัสดุอินทรีย์ที่เตรียมไว้ในตอนแรกให้เข้ากัน เตรียมละลายสาร พด. 1 จำนวน 1 ซอง ในน้ำปริมาณ 20 ลิตร (20 กิโลกรัม) และนำไปรดในกองปุ๋ยชีวภาพ ให้ทั่วทุกจุด และคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำสารอีเอ็ม (EM) ปริมาณ 1 ลิตร ผสมน้ำให้มีปริมาตร 20 ลิตร และนำไปรดกองปุ๋ยชีวภาพให้ทั่วทุกจุด และคลุกเคล้าให้เข้ากัน และปรับกองตั้งในที่ร่ม ไม่อับอากาศ ป้องกันแสงแดดและฝนได้ สุดท้ายเสริมธาตุไนโตรเจนด้วยยูเรียที่ได้จากการหมักถั่วเหลืองแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน และตั้งไว้ประมาณ 20-25 วัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ (ปุ๋ยชีวภาพต้องมีสีน้ำตาลหรือสีดำ ละเอียด ไม่มีกลิ่นเหม็น)

จะเห็นได้ว่าปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยปรับปรุงดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีที่ส่งผลต่อคุณภาพดินและสภาพแวดล้อม ลดภาวะมลพิษที่ มาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตใช้เองในครัวเรือน และชุมชน

ผศ.สมบูรณ์ ประสงค์จันทร์หลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เบอร์โทร : 093-7412888