​คณะรัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่ ลุยงานวิจัย ตอบโจทย์ชุมชน


3 ก.พ. 2564

คณะรัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่ ลุยงานวิจัย สร้าง “แผนวิจัยชุมชนนวัตกรรม” หวังยกระดับวิสาหกิจ พัฒนาผลิตชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.สงขลา พร้อมมุ่งพัฒนาหลักสูตร ตอบโจทย์การทำงานจริงในพื้นที่


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีการบูรณาการเรื่องการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการกับชุมชน ด้วยการสร้าง “แผนวิจัยชุมชนนวัตกรรม” เพื่อยกระดับศักยภาพวิสาหกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และเพิ่มช่องทางการตลาด ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพที่สำคัญเพื่อสร้าง Learning and Innovation Platform สำหรับนวัตกรชาวบ้าน ให้กับ 10 ชุมชนใน 8 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพะ อ.นาหม่อม อ.รัตภูมิ อ.บางกล่ำ อำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร และอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการเรียนรู้และรับปรับใช้นวัตกรรม สามารถนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงและจัดการกับปัญหาในชุมชน พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

“อย่างที่รู้กันว่า วิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง ไม่เข้มแข็งและยั่งยืน แม้ในช่วงแรกเมื่อมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำหรือสนับสนุนก็จะเป็นรูปเป็นร่างในระยะหนึ่ง แต่พอหน่วยงานภาครัฐถอยออกไปเขาก็ยังยืนด้วยตนเองไม่ได้ เราคิดว่าจะทำยังไงให้วิสาหกิจชุมชนเหล่านี้สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ สามารถใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบ ใช้แรงงานในชุมชน ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิตสินค้าถูกลง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ กล่าว

งานวิจัยและการบริการวิชาการครั้งนี้ คณะรัฐศาตร์หวังจะทำให้วิสาหกิจชุมชนหรือคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นตามลำดับ ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้จากสังคมเมืองสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในระดับมหาวิทยาลัยได้มีการทำวิจัยเรื่อง "เมืองอัจฉริยะ (Smart City)" อยู่แล้ว และเมื่อคณะรัฐศาสตร์เข้าไปดูแลชุมชนต่างๆโดยรอบก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกระจายความเจริญจากตัวเมืองหาดใหญ่และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

นอกจากนี้ คณะรัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่ ยังได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับ วิทยาลัยชุมชน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สตูล และ จ.สงขลา โดยมีความร่วมมือด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชการ เพื่อที่จะทำให้วิทยาลัยชุมชนมีความเข้มแข็งในการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งเรื่องทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี หรือสื่อการสอนที่ทันสมัยมากขึ้


ปัจจุบันคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการเมืองการปกครอง และสาขาวิชาการบริหารจัดการท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเรียนที่มีโอกาสได้ร่วมฝึกปฏิบัติด้านต่างๆ กับชุมชน เป็นการเรียนในลักษณะของ Community Based Learning ให้นักศึกษาได้เอาทฤษฎีที่เรียนในมหาวิทยาลัยลงไปเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งกับบริบทของชุมชน

“ผมคิดว่าทำให้การเรียนการสอนนอกห้องเรียนมีความสนุก มีความน่าสนใจมากขึ้น นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง ได้เห็น ได้ฝึก ได้ลองปฏิบัติในแต่ละรายวิชา นักศึกษาจะมีส่วนช่วยหรือทำอะไรได้บ้างที่จะสอดรับกับเนื้อหารายวิชาที่ได้เรียนในห้องเรียนไป โดยคณะรัฐศาสตร์ยังยึดในปรัชญาการทำงานคือ สิงห์มะหาดสิงห์แห่งชุมชน เพราะฉะนั้นเราก็พยายามพัฒนานักศึกษาให้เป็นไปตามปรัชญาของคณะฯ” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าว

ในอนาคต คณะรัฐศาสตร์ ยังจะมีการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก มาทดแทนหลักสูตรเดิม เนื่องจากปัจจุบัน ไม่สามารถใช้วิทยาการความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งลงไปแก้ปัญหาชุมชน ท้องถิ่น ได้ด้วยวิทยาการความรู้สาขาเดียว และหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอกที่สร้างขึ้นใหม่ จะเป็นหลักสูตรสหวิทยาการจัดการ เป็นการบูรณาการศาสตร์ความรู้ หลาย ๆ ด้าน ในการเข้ามาช่วยบริหารจัดการงานภาครัฐภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดในปี 2565 //////.