​“Local life” แพลตฟอร์มสั่งอาหารเพื่อชาว ม.อ. พร้อมหนุน นศ. สู่การเป็นผู้ประกอบการ


13 ก.พ. 2564

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ ร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลอาหารและเครื่องดื่มเพื่อชาว ม.อ. ตอบโจทย์คนยุคใหม่ พร้อมส่งเสริมนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ร่วมพัฒนาธุรกิจ บูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ ฝึกการทำงานจริง

ปัจจุบันการบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET จัดทำโครงการ Local life สร้าง Application food delivery เพื่อเป็นสื่อกลางในการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ขาย หรือร้านค้า และผู้ซื้อทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนบุคคลภายนอก และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างโอกาสการหารายได้ระหว่างเรียนของนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือนักศึกษาที่อยากหารายได้เสริม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัฐดา จิเบ็ญจะ รองคณบดีฝ่ายกิจการภายในและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการ Local life เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง Application food delivery ให้นักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถสั่งอาหารออนไลน์ได้ ส่งเสริมการเรียนรู้ บูรณาการศาสตร์ ฝึกการทำงานจริงของนักศึกษา ตลอดจนสร้างโอกาสหารายได้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากการเป็นผู้ส่งอาหารและเครื่องดื่ม หรือ Rider โดยมีบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET เป็นบริษัทพี่เลี้ยง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธิดา สุวรรณโณ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาองค์กร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า Local life เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมกันบริหาร ซึ่งจะมีการวางแผนร่วมกัน ตั้งแต่การสำรวจร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนักศึกษาสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ และการสำรวจตลาด โดยนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ และมีบริษัท INET เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชัน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการผลตอบรับค่อนข้างดี มียอดการสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง นักศึกษาที่เป็นไรเดอร์มีรายได้จาการส่งอาหารวันละ 400-500 บาท แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการเรียนและการสอบของนักศึกษา ทำให้ไม่สามารถส่งอาหารได้ต่อเนื่อง จึงเปิดรับไรเดอร์รูปแบบ Full Time ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามารองรั

“ขอบคุณ INET ที่ช่วยสนับสนุนและเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักศึกษาในการหาความรู้จากประสบการณ์การการทำงานจริง โครงการ Local life ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ใน ม.อ. และอาจจะต่อยอดต่อไปในหลายๆ คณะที่สนใจ และยังสามารถใช้ได้ทั้ง 5 วิทยาเขตอีกด้วย”

ขณะที่ นายสุรพงษ์ การะเกต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนงาน SMEs Platform บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Local life มีบริการทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 1. สั่งอาหาร 2. ค้นหาที่พัก 3. สินค้าเกษตร 4. นัดหาหมอ ปัจจุบันมีร้านค้าทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการกว่า 200 ร้าน มีผู้ประกอบการเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 10 ราย มีสินค้าเกษตรทั้งหมดกว่า 300 รายการ และยังคงพัฒนาบริการต่างๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงจะเปิดรับนักศึกษาในตำแหน่ง Business Platform Designer เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจรายย่อยและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่การดูแลผลประกอบการ จัดทำกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย การประชาสัมพันธ์และจัดโปรโมชั่น ตลอดจนดูแลคุณภาพของสินค้า Local life ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยเหลือชุมชน ผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมนักศึกษาให้ได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย