​อาจารย์ มทร.ศรีวิชัย ค้นพบ ตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลก "ตุ๊กแกประดับดาว"


17 พ.ค. 2564

ตุ๊กแกประดับดาว (Gekko pradapdao Meesook, Sumontha, Donbundit & Pauwels, 2021) ตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบขณะสำรวจเลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนภาคกลาง คณะสำรวจนำทีมโดย ดร.วรวิทู มีสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) ร่วมกับ นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง และนางสาวณัฐสุดา ดรบัณฑิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ตุ๊กแกชนิดนี้ มีลำตัวค่อนข้างแบนสีน้ำตาล ตาสีน้ำตาล มีจุดสีขาวประบนหัว ลำตัว แขน และขา โดยไม่เรียงตัวตามแนวขวาง เกาะตามผนังหินปูนและวัสดุที่มีการนำไปไว้ในถ้ำ ในเบื้องต้นไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบร่วมกับ Mr. Olivier S.G. Pauwels ภัณฑารักษ์ สถาบันธรรมชาติวิทยาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งพบว่าเป็นตุ๊กแกที่ยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จากลักษณะสีตัวที่สีน้ำตาลเข้ม-ดำ และมีจุดประสีขาวกระจายทั่วหัวและตัวเปรียบเสมือนดวงดาวที่พร่างพราวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ที่มาจากภาษาไทยว่า “ประดับดาว”

จากการสำรวจเขาหินปูนในภาคกลาง พบว่ามีสัตว์เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ได้แก่ ตุ๊กแกประดับดาว (Gekko pradabdao) ตุ๊กแกสยาม (G. siamensis) ตุ๊กแกถ้ำอาจารย์วีระยุทธ์ (G. lauhachindai) ตุ๊กกายถ้ำสระบุรี (Cyrtodactyrus chanhomeae) ตุ๊กกายลายจุดผีเสื้อ (C. papilionoides) และจิ้งจกดินข้างดำ (Dixonius melanostictus) ซึ่งสัตว์เลื้อยคลายเหล่านี้มีรายงานการพบในพื้นที่จำกัด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระบบนิเวศเขาหินปูนในบริเวณนี้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านี้มากนัก และมีกฎหมายในการปกป้องการนำสัตว์เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศเขาหินปูนภาคกลางอย่างยั่งยืน