มรภ.สงขลา เดินเกมรุก ฟังเสียงพ่อเมือง-หอการค้า เตรียมปั้นบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการท้องถิ่น


29 ธ.ค. 2558

นายกสภา นำทีมผู้บริหาร มรภ.สงขลา เดินสายรับฟังความเห็นพ่อเมืองควบคู่หอการค้า เตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ตามความต้องการท้องถิ่น ฟากภาคธุรกิจแนะควรต่อยอดจุดเด่นด้านดนตรี วัฒนธรรม เปิดหลักสูตรระยะสั้นรองรับผู้เรียนหลากหลาย

1913302_199181560430721_1053781648992277921_o.jpg

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างนำคณะผู้บริหาร เดินทางเข้าพบคณะกรรมการบริหารหอการค้า จ.สงขลา ว่า การมาในครั้งนี้เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจ สำหรับเป็นแนวทางประกอบการวางแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ในด้านการกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตสู่ท้องถิ่นอย่างตรงจุด และร่วมมือด้านกิจกรรมบริการวิชาการและงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งในการมารับตำแหน่งที่ มรภ.สงขลา ทางคณะผู้บริหารได้ย้ำว่าจะทำอย่างไรให้ มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ซึ่งการพัฒนาท้องถิ่นก็มีหลายด้าน ด้านการค้าและเศรษฐกิจนับเป็นสิ่งสำคัญ ตนจึงตั้งใจมาขอคำแนะนำและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เนื่องจากมีความตั้งใจไว้สูงว่าในอนาคต มรภ.สงขลา จะผลิตบัณฑิตที่เป็นทางเลือกแรกๆ ให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่ท้องถิ่น จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย และช่วยกันกำหนดทิศทางเพื่อการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของท้องถิ่น

นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานกรรมการหอการค้า จ.สงขลา กล่าวว่า จุดแข็งของ มรภ.สงขลา คือความเป็นหนึ่งด้านดนตรี ศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาต่างมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่ มรภ.สงขลา ควรจะรักษาและพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ด้านคุณภาพของนักศึกษาราชภัฏ ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานในท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีธรรมชาติที่เข้ากับคนง่าย ปรับตัวทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้ง่าย เพราะที่นี่คือบ้านของเขา แม้ในเชิงวิชาการอาจมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบบ้าง แต่ในฐานะผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการแค่คนเก่ง เราต้องการคทำงานเป็น มีวินัยและคุณธรรมในการทำงานด้วย

10608214_199163407099203_2110647604564693466_o.jpg

ด้าน นายกวิศพงศ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่งหาดใหญ่ 2009 จำกัด กล่าวว่า เด็กยุคนี้เติบโตมากับสังคมก้มหน้า ความเจริญทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ขาดความอดทน ไม่ชอบการรอคอย เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่รักษาเวลา ฯลฯ ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นปัญหาต่อการทำงาน ในฐานะผู้ประกอบการอยากได้ผู้ร่วมงานที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และมีคุณธรรม จึงอยากให้มหาวิทยาลัยปลูกฝังนักศึกษาให้มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นสำคัญ”

ขณะที่ นางนฤมล อมรรัตน์วิทยา รองกรรมการผู้จัดการห้างโอเดียนแฟชั่นมอลล์หาดใหญ่ กล่าวเสริมว่า หากเปรียบแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้หญิง ราชภัฏอาจไม่ใช่ผู้หญิงสวย แต่เป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ จึงต้องมาทบทวนว่าเสน่ห์ของราชภัฏคืออะไร แล้วนำเสนอออกมาให้เต็มที่ ซึ่งในยุคสมัยนี้การประชาสัมพันธ์นับเป็นหัวใจสำคัญ

นอกจากนั้น คณะกรรมการหอการค้าคนอื่นๆ ยังได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย อาทิ การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้น เพื่อการประกอบธุรกิจและอาชีพอิสระ (ด้านอาหาร การท่องเที่ยว การขนส่ง) กิจกรรมบริการวิชาการและงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พันธุ์พืชและอาชีพในท้องถิ่น เป็นต้น

ในโอกาสเดียวกัน นายกสภา และคณะผู้บริหาร มรภ.สงขลา ยังได้เดินทางเข้าพบ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ซึ่งพ่อเมืองได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า จ.สงขลา มีสถาบันอุดมศึกษาถึง 5 สถาบัน แต่ละสถาบันมีเอกลักษณ์และจุดเด่นแตกต่างกัน ในฐานะที่มีความผูกพันกับราชภัฏ ตนมองว่า มรภ.สงขลา ต้องหาความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้ได้

หาก มรภ.สงขลา ตั้งเป้าว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในท้องถิ่นมีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งอาจดึงเด็กสายอาชีพที่มีความชำนาญด้านการปฏิบัติงานจริงมาเพิ่มทักษะด้านการจัดการ เพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพ ทั้งอาชีพในระบบและอาชีพอิสระ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการทำงาน มีวินัย สู้งาน มีสัมมาคารวะ มีมนุษยสัมพันธ์ รักและผูกพันท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม อาชีพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นจุดแข็งของ มรภ.สงขลา

 

ภาพและข่าวโดย อภิญญา สุธาประดิษฐ์  (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

เข้าพบพ่อเมืองสงขลา.jpgหารือหอการค้า จ.สงขลา.jpgอธิการร่วมแสดงความคิดเห็น.jpg