​วจก. ม.อ. จับมือพันธมิตรบริษัทเอกชนพื้นที่ EEC วิจัยร่วมพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมตลาดหุ่นยนต์


10 ก.พ. 2565

วจก. ม.อ. จับมือพันธมิตรบริษัทเอกชนในพื้นที่ EEC วิจัยร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมตลาดหุ่นยนต์และระบบออโตเมติกในประเทศไทย


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมทรัพย์อนันต์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือดำเนินการวิจัย ระหว่าง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ และบริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ในพื้นที่ EEC โดย ดร.พชระ แซ่โง้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท

โดยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะสานพลังร่วมกันวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดหุ่นยนต์และระบบออโตเมติกในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับประเทศ ซึ่งภายหลังการลงนามสัญญาความร่วมมือในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการวิจัยร่วมกันและมีการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ในประเด็นการพัฒนาตลาดสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบออโตเมติกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะที่มีบทบาทเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคต

ซึ่งต้องมีการพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology) รองรับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ EEC ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ความสามารถของบุคลากรของบริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด เมื่อนำมาผสมผสาน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และปฏิบัติงานร่วมกันกับทางคณาจารย์ของคณะวิทยาการจัดการ จะเป็นพลังสําคัญที่จะผลักดันให้วิชาการและงานวิจัยมีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางต่อไป